ขณะนี้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ทำให้หลายพื้นที่มีฝนตกและความชื้นสูง เหมาะสมต่อการเจริญและแพร่ระบาดของเชื้อรา สาเหตุของโรคต่าง ๆ ของยางพาราที่สามารถเกิดได้ทั้งส่วนใบ ลำต้นและราก และเกิดได้ทุกระยะของการเจริญเติบโต ซึ่งมีระดับความรุนแรงของโรคมากน้อยแตกต่างกันไปตามแหล่งปลูกยาง และจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของแปลงปลูกสภาวะอากาศในแต่ละพื้นที่ รวมถึงพันธุ์ยางที่ใช้ปลูก อย่างไรก็ตามโรคยางพาราส่วนใหญ่มักระบาดไม่รุนแรงมาก จนทำให้ต้นยางตาย แต่มีผลทำให้ผลผลิตลดลง สำหรับโรคที่เกิดส่วนลำต้นและมีความสำคัญ ได้แก่ โรคเส้นดำ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นบนหน้ากรีดยาง ทำให้ไม่สามารถกรีดยางซ้ำบนหน้ากรีดเดิมได้อีก เป็นผลให้ระยะเวลาการให้ผลผลิตสั้นลง ดังนั้นเกษตรกรควรทำความเข้าใจกับโรคที่เกิดขึ้นเพื่อสามารถป้องกันและรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
โรคเส้นดำ (Black stripc) เป็นโรคของยางพาราที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา (Phytophthora botryosa, P. palmivora) เป็นโรคทางลำต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเชื้อเข้าทำลายหน้ากรีด ซึ่งเป็นบริเวณที่เก็บเกี่ยวน้ำยาง หากอาการรุนแรงจะไม่สามารถกรีดยางซ้ำบนหน้ากรีดเดิมได้อีก ทำให้ระยะเวลาการให้ผลผลิตสั้นลง โรคเส้นดำเป็นโรคที่แพร่ระบาดในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคใบร่วงและฝักเน่าที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอราเป็นประจำ เนื่องจากเชื้อราที่เข้าทำลายฝักยาง ใบ และก้านใบเป็นแห่งเชื้อที่สามารถแพร่ระบาดเข้าทำลายหน้ากรีด
เกษตรกรสามารถสังเกตลักษณะอาการของโรคเส้นดำได้ ตรงเหนือรอยกรีดจะมีลักษณะเป็นรอยช้ำ ต่อมาจะกลายเป็นรอยบุ๋มสีดำตามแนวยาวของลำต้น เมื่อเฉือนเปลือกบริเวณรอยบุ๋มสีดำจะเห็นลายเส้นสีดำบนเนื้อไม้ และอาจลุกลามลงใต้รอยกรีด ถ้าอาการรุนแรง บริเวณที่เป็นโรคจะปริเน่า มีน้ำยางไหล เปลือกเน่าหลุดออกมา ถ้าการเข้าทำลายของเชื้อไม่รุนแรง เปลือกงอกใหม่จะเป็นปุ่มปม ทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้
เชื้อราสาเหตุของโรคเส้นดำแพร่ระบาดโดยเชื้อบนฝักและใบที่เป็นโรคถูกชะล้างโดยน้ำฝนลงมาที่หน้ากรีด และจะระบาดรุนแรงเมื่อกรีดยางติดต่อกันในฤดูฝนโดยไม่มีการป้องกันรักษาหน้ากรีด เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความชื้นสูง ๆ หน้ากรีดจะเปียกอยู่ตลอดเวลา เหมาะต่อการขยายพันธุ์ของเชื้อ พบว่าเชื้อราสาเหตุของโรคสามารถเข้าทำลายพืชอื่นได้หลายชนิด เช่น มะละกอ แตงโม ส้ม ทุเรียน พริกไทย โกโก้ มะพร้าว ยาสูบ กล้วยไม้
ดังนั้น เกษตรกรจึงควรหลีกเลี่ยง ไม่ปลูกพืชเหล่านี้เป็นพืชแซมยางหรือพืชร่วมยาง และไม่ควรเปิดกรีดยางในช่วงฤดูฝนในพื้นที่ที่มีโรคระบาดรุนแรง ระยะที่มีโรคใบร่วงไฟทอปธอราระบาด
แนะนำให้ใช้สารเคมีทาป้องกันโรคที่หน้ากรีด สารเคมีที่มีประสิทธิภาพคือ เมทาแลคซิล เช่น เอพรอน หรือ ฟอสเอทธิล อะลูมินัม เช่น อาลีเอท ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง อัตรา 7-10 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ทาพื้นที่หน้ากรีดหรือทาเหนือรอยกรีดภายใน 12 ชั่วโมง หลังการกรีดยางทุกสัปดาห์ แต่หากพบอาการที่หน้ากรีดต้องเฉือนเปลือกส่วนที่เป็นโรคออกเสียก่อน แล้วจึงทาแผลด้วยสารเคมี สารเคมีที่มีประสิทธิภาพ คือ เมทาแลคซิล เช่น เอพรอน อัตรา 14 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือฟอสเอทธิล-อลูมินั่ม เช่น อลีเอท อัตรา 20-25 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ ออกซาไดซิล+แมนโคเซนโดแฟน-เอ็ม อัตรา 40-60 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งผสมสารจับใบ 2 ซีซี. พ่นหรือทาหน้ากรีดยางทุก 5-7 วัน อย่างน้อย 4 ครั้ง
ในช่วงที่ฝนตกชุก เกษตรกรควรหมั่นตรวจตราดูแลสวนยางอย่างสม่ำเสมอ และสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ของต้นยางที่เกิดขึ้น เพื่อตรวจวินิฉัยพิจารณาแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และป้องกันกำจัด ก่อนที่การระบาดของโรคจะรุนแรงมากขึ้น การบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ดี