แจ้งเตือน
H20 โรคพืช
17 พฤศจิกายน 2566
เตรียมรับมือโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นในตอนเช้า และมีฝนตกบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหอม ฯลฯ) ในทุกระยะ การเจริญเติบโต รับมือโรคราน้ำค้าง (เชื้อรา Peronospora parasitica)
พบโรคได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน แล้วขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน อาการเริ่มแรกจะเห็นบริเวณด้านบนใบมีลักษณะเป็นจุดหรือปื้นแผลสีเหลือง ในตอนเช้าที่สภาพอากาศมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อราลักษณะเป็นขุยสีขาวถึงเทาตรงแผลบริเวณด้านใต้ใบ ถ้าโรคระบาดรุนแรงแผลจะลามขยายใหญ่ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต่อมาใบจะเหลืองและแห้ง หากเป็นโรคในระยะกล้า จะทำให้ต้นกล้าแคระแกร็น หรือตาย * ในกะหล่ำดอกและบรอกโคลี หากโรครุนแรงก้านดอกจะยืดและดอกอาจจะบิดเบี้ยวเสียรูปทรง

แนวทางป้องกันกำจัด
1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและปราศจากโรค
2. ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
3. ไม่ปลูกพืชระยะชิดกันเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสูง
4. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการของโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% WG อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทุก 5-7 วัน
5. แปลงที่มีการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาดซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน


แหล่งที่มา

สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
https://www.facebook.com/photo/?fbid=686553563623861&set=a.257770309835524
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู