แจ้งเตือน
H20 โรคพืช
27 กันยายน 2566
ระวังโรคใบจุดในพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด
สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหอม ฯลฯ) ในทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคใบจุด (เชื้อรา Alternaria brassicicola และ A. brassicae)
โรคเกิดได้ทุกส่วนและทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช อาการระยะต้นกล้า เกิดแผลเล็ก ๆ สีน้ำตาลเข้มที่ลำต้น จากนั้นแผลจะขยายใหญ่ อาการคล้ายโรคเน่าคอดิน ทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต อาการระยะต้นโต มักพบบนใบและก้านใบ เกิดเป็นแผลจุดเล็ก ๆ สีเหลือง ต่อมาแผลจะขยายใหญ่มีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ลักษณะเป็นวงค่อนข้างกลม เรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ในกะหล่ำปลี ถ้าเกิดโรคหลังจากห่อหัวแล้ว และสภาพอากาศมีความชื้นสูง จะเกิดอาการเน่าอย่างรุนแรงทั้งหัว ในกะหล่ำดอก และบรอกโคลี ถ้าเกิดอาการที่ดอก จะทำให้เกิดแผลสีน้ำตาล โดยเริ่มจากช่อดอกที่อยู่ด้านนอกลามเข้ามาด้านใน หากเป็นโรครุนแรงจะถูกทำลายทั้งดอก
*เชื้อสาเหตุโรคสามารถติดเมล็ด ทำให้เมล็ดสูญเสียความงอก หรืออาจแฝงตัวในเมล็ดพันธุ์ทำให้เกิดการระบาดของโรค เมื่อนำไปปลูกในฤดูถัดไป
แนวทางป้องกันกำจัด
1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดโรค ไม่นำเมล็ดพันธุ์จากแปลงที่มีการระบาดของโรคมาปลูก
2. แช่เมล็ดในน้ำอุ่นประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 20-25 นาที ก่อนปลูก
3. ไม่ปลูกพืชระยะชิดกันจนเกินไป ควรให้มีแสงแดดส่องผ่านได้และมีการระบายอากาศที่ดี
4. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคในระยะกล้า ควรถอนต้นกล้าที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก หากพบโรคในระยะต้นโต ควรตัดใบที่เป็นโรคออก นำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไอโพรไดโอน 50% WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน 25% SC อัตรา 5-10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอโรทาโลนิล 50% SC อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน
5. ถ้าพบโรคระบาดรุนแรงให้ปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด สลับหมุนเวียนอย่างน้อย 3 ปี

แหล่งที่มา

กรมวิชาการเกษตร
https://at.doa.go.th/ew/index.php
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู