แจ้งเตือน
H20 โรคพืช
27 กันยายน 2566
ระวังโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลแตง
สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลแตง (เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ) ในทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคราน้ำค้าง (เชื้อรา Pseudoperonospora cubensis)
มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน แล้วขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน อาการเริ่มแรกบนใบปรากฏแผลฉ่ำน้ำ แผลจะขยายตามกรอบของเส้นใบย่อย ทำให้เห็นเป็นรูปเหลี่ยมเล็ก ๆ ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ในตอนเช้าที่สภาพอากาศมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อรา ลักษณะเป็นขุยสีขาวถึงเทาที่แผลบริเวณด้านใต้ใบ แผลจะขยายติดต่อกันเป็นแผลขนาดใหญ่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ หากอาการรุนแรงจะทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น พืชที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก คุณภาพของผลจะลดลง หากเป็นโรคในระยะมีผลอ่อน จะทำให้ผลลีบเล็ก และบิดเบี้ยว
แนวทางป้องกันกำจัด
1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและปราศจากโรค
2. ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยสารเมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
3. ไม่ปลูกพืชระยะชิดกันเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสูง
4. หมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศในแปลงได้ดี
5. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% WG อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซมอกซานิล + แมนโคเซบ 8% + 64% WP อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% WG อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทุก 5-7 วัน
6. แปลงที่เป็นโรคควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น
7. แปลงที่มีการระบาดของโรครุนแรง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกพืชตระกูลแตงซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

แหล่งที่มา

กรมวิชาการเกษตร
https://at.doa.go.th/ew/index.php
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู