สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลส้ม (เช่น มะนาว มะกรูด ส้มโอ และส้มเขียวหวาน) ในทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคแคงเกอร์ (เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas citri subsp citri) ชื่อเดิม Xanthomonas citri subsp citri
อาการบนใบ เริ่มแรกเป็นแผลจุดฉ่ำน้ำ ต่อมาจะขยายใหญ่เป็นแผลจุดนูนสีเหลืองอ่อน ลักษณะฟูคล้ายฟองน้ำ จากนั้นเนื้อเยื่อแผลจะแข็ง มีสีน้ำตาลเข้ม ตรงกลางแผลยุบตัว ขอบแผลยกตัวขึ้น บริเวณรอบ ๆ แผลปรากฏวงสีเหลืองล้อมรอบ พบอาการของโรคได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังใบ โดยเห็นชัดที่ด้านหลังใบ นอกจากนี้ยังพบอาการของโรคได้บนก้านใบ ทำให้ใบเหลืองร่วงก่อนกำหนด
อาการบนกิ่ง ลักษณะคล้ายอาการบนใบ แต่ไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบแผล ต่อมาแผลจะแตก แข็ง เป็นสีน้ำตาล ขยายรอบกิ่ง หรือตามความยาวกิ่ง รูปร่างแผลไม่แน่นอน
อาการบนผล ลักษณะคล้ายอาการบนใบ แต่จะเกิดเป็นแผลเดี่ยว ๆ มีลักษณะกลมฝังลึกลงไปในผิว แผลจะขยายเป็นสะเก็ดใหญ่ รูปร่างไม่แน่นอน มีวงสีเหลืองล้อมรอบ บางครั้งพบผลปริแตกตามรอยแผล หากเกิดโรคในระยะผลอ่อนจะทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ และถ้าอาการรุนแรงจะทำให้ผลร่วง
แนวทางป้องกันกำจัด
1. ควรเลือกกิ่งพันธุ์จากแหล่งปลูกที่ไม่มีการระบาดของโรค หรือไม่นำกิ่งพันธุ์จากต้นที่เป็นโรคไปปลูก และใช้กิ่งพันธุ์ที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ
2. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค และเก็บเศษพืชที่ร่วงหล่นไปทำลายนอกแปลง แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่มสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คิวปรัสออกไซด์ 86.2% WG อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77% WP อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน จำนวน 2-3 ครั้ง
3. ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง
4. กำจัดหนอนชอนใบ โดยเฉพาะช่วงที่พืชแตกใบอ่อน เนื่องจากรอยทำลายของหนอนชอนใบเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายพืช และช่วยส่งเสริมให้อาการโรคลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยพ่นด้วยปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน 16% SG อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งด้านหลังใบและหน้าใบ และถ้าพบว่ายังมีการระบาดของหนอนชอนใบให้พ่นซ้ำ