แจ้งเตือน
H20 โรคพืช
20 กุมภาพันธ์ 2566
ระวังโรคราน้ำค้าง (เชื้อรา Peronospora parasitica) Peronospora parasitica ในพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า มีฝนตกบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหอม ฯลฯ) ในทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคราน้ำค้าง (เชื้อรา Peronospora parasitica) พบโรคได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน แล้วขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน อาการเริ่มแรกจะเห็นบริเวณด้านบนใบมีลักษณะเป็นจุดหรือปื้นแผลสีเหลือง ในตอนเช้าที่สภาพอากาศมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อราลักษณะเป็นขุยสีขาวถึงเทาตรงแผลบริเวณด้านใต้ใบ ถ้าโรคระบาดรุนแรงแผลจะลามขยายใหญ่ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต่อมาใบจะเหลืองและแห้ง หากเป็นโรคในระยะกล้า จะทำให้ต้นกล้าแคระแกร็น หรือตาย
* ในกะหล่ำดอกและบรอกโคลี หากโรครุนแรงก้านดอกจะยืดและดอกอาจจะบิดเบี้ยวเสียรูปทรง

แนวทางป้องกันกำจัด
1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและปราศจากโรค
2. ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
3. ไม่ปลูกพืชระยะชิดกันเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสูง
4. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการของโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% WG อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทุก 5-7 วัน
5. แปลงที่มีการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาดซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน


แหล่งที่มา

กรมวิชาการเกษตร
https://at.doa.go.th/ew/backoffice/upload/318feb661.pdf
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู