แจ้งเตือน
H10 ศัตรูพืช
17 กุมภาพันธ์ 2566
ระวังหนอนด้วงหนวดยาวในทุเรียน

สภาพอากาศในช่วงนี้แดดแรง ลมแรง และอากาศแห้งในตอนกลางวัน อากาศเย็นอุณหภูมิลดต่ำลงในตอนกลางคืน เตือนผู้ปลูกทุเรียนในระยะแทงช่อดอก-พัฒนาผล รับมือหนอนด้วงหนวดยาวตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ โดยฝังไว้ใต้เปลือกตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ หนอนกัดกินชอนไชไปตามเปลือกไม้ด้านในไม่มีทิศทาง หรืออาจกัดควั่นเปลือกรอบต้น การทำลายที่เกิดจากหนอนขนาดเล็กไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก แต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะพบขุยไม้ละเอียด ซึ่งเป็นมูลของหนอนตามแนวรอยทำลาย หรือตรงบริเวณที่หนอนทำลายกัดกินอยู่ภายในจะเห็นมีของเหลวสีน้ำตาลแดงไหลเยิ้มอยู่ ในระยะต่อมาจึงจะพบมูลหนอนออกมากองเป็นกระจุกอยู่ข้างนอกเปลือก เมื่อใช้มีดปลายแหลมแกะเปลือกไม้ จะพบหนอนอยู่ภายใน จะสังเกตพบรอยทำลายต่อเมื่อหนอนตัวโตและอาจเจาะเข้าเนื้อไม้ หรือกินควั่นรอบต้นทุเรียนแล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้ทุเรียนเริ่มทรุดโทรม ใบเหลืองและร่วง และยืนต้นตายได้

แนวทางป้องกันกำจัด
1. กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยตัดต้นทุเรียนที่ถูกทำลายรุนแรงจนไม่สามารถให้ผลผลิตเผาทิ้ง และควรดูแลรักษาต้นทุเรียน ให้มีความสมบูรณ์ แข็งแรงอยู่เสมอ
2. กำจัดตัวเต็มวัย โดยใช้ไฟส่องจับตามต้นทุเรียนในช่วงเวลา 20.00 น. ถึงช่วงเช้ามืด หรือใช้ตาข่ายดักปลาตาถี่พันรอบต้นหลายๆ ทบ เพื่อดักตัวด้วง
3. หมั่นตรวจสวนเป็นประจำ โดยสังเกตรอยแผล ซึ่งเป็นแผลเล็กและชื้น ที่ตัวเต็มวัยทำขึ้นเพื่อการวางไข่ ถ้าพบให้ทำลายไข่ทิ้ง หรือถ้าพบขุยและการทำลายที่เปลือกไม้ให้ใช้มีดแกะ และจับตัวหนอนทำลาย
4. แหล่งที่มีการระบาดรุนแรง ควรป้องกันการเข้าทำลายของด้วงหนวดยาว โดยพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ไทอะมีทอกแซม/แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 14.1%/10.6% ZC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน 16% SG อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซีทามิพริด 20% SP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้โชกเฉพาะบริเวณลำต้น ตั้งแต่โคนจนถึงยอด และกิ่งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ด้วงชอบวางไข่ พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์


แหล่งที่มา

สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
https://www.facebook.com/profile.php?id=100068076707389
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู