ระวังโรคราสนิมในถั่วฝักยาว
สภาพอากาศในช่วงนี้ฝนตกชุก เตือนผู้ปลูกถั่วฝักยาว ในระยะ ทุกระยะ การเจริญเติบโต รับมือโรคราสนิม สาเหตุเกิดจากเชื้อรา ยูโรมายเซส (Uromyces appendiculatus (Uromyces phaseoli))
พบมากในระยะถั่วฝักยาวเริ่มออกดอก มักเกิดกับใบแก่ด้านล่างของลำต้นก่อนแล้วลามขึ้นด้านบน โดยพบมากบริเวณด้านใต้ใบ อาการเริ่มแรกเป็นแผลจุดสีเหลืองซีด ต่อมาตรงกลางแผลเป็นตุ่มนูนสีน้ำตาลแดง รอบแผลมีสีเหลือง ตุ่มนูนจะขยายใหญ่แล้วปริแตกออก เห็นเป็นผงสีน้ำตาลแดงคล้ายสีสนิม เมื่ออาการรุนแรงจะพบแผลกระจายทั่วทั้งใบ ทำให้ใบเหลืองและหลุดร่วง
![](../../../f/7306969a8789b04a72c626ad35168b9e850546073589dfad4ceee84a68677341.jpeg)
แนวทางป้องกัน
1. ไม่ปลูกพืชจนแน่นเกินไป ควรปรับระยะปลูกให้มีการถ่ายเทของอากาศและมีแสงแดดส่องผ่านแปลงปลูกได้
2. กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดการเกิดโรค
3. เมื่อเริ่มพบโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คลอโรทาโลนิล 50% เอสซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะดิมีฟอน 20% อีซี อัตรา 10-15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน + ไดฟีโนโคนาโซล 20% + 12.5% เอสซี อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน
4. กำจัดเศษซากพืชที่เป็นโรค โดยนำไปเผานอกแปลงปลูก
5. ในแปลงที่มีการระบาดของโรค เมื่อสิ้นสุดฤดูปลูก ควรเก็บต้นไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรค
แหล่งที่มา
สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
https://www.facebook.com/photo?fbid=416209503991603&set=a.257770309835524