ลักษณะอาการ โรคราดำจะพบอาการคราบราสีดำติดตามส่วนของใบ กิ่ง ในบางครั้งพบที่ผล โดยเชื้อราสามารถเจริญได้จากสารเหนียวที่แมลงปากดูดปลดปล่อยมา เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย การเกิดโรคที่ใบไม่ทำให้ใบเสียหายมาก เพียงแต่บดบังพื้นที่ใบที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง ทำให้การสังเคราะห์แสงลดลง แต่ในระยะต้นกล้า หรือต้นที่เจริญเติบโตยังไม่เต็มที่จะทำให้การเจริญโตช้า หรือชะงักการเจริญเติบโตไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
การแพร่ระบาด โรคราดำมักพบในช่วงที่มีการระบาดของแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และเพลี้ยไก่แจ้ เป็นโรคที่พบได้ในแหล่งปลูกกระท่อมที่มีความชื้นสูง ต้นกระท่อมมีทรงพุ่มแน่นทึบ
การป้องกันกำจัด
1. กำจัดวัชพืชในแปลง เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก เป็นการลดความชื้นสะสม
2. หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบคราบราสีดำ พ่นด้วยน้ำเปล่าล้างคราบราสีดำและสารเหนียวที่แมลงปากดูดขับถ่ายไว้ เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค
3. เนื่องจากเชื้อราเจริญบนสารเหนียวที่แมลงปากดูดปลดปล่อยมา เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และเพลี้ยไก่แจ้ขับถ่ายไว้ จึงควรป้องกันกำจัดแมลง ดังนี้
3.1 เมื่อพบการระบาดของเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หรือเพลี้ยไก่แจ้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง ได้แก่ สารคลอร์ไพริฟอส 40% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส
/ไซเพอร์เมทริน 50% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสารเฉพาะต้นที่พบเพลี้ยแป้งหรือเพลี้ยหอยเข้าทำลาย
3.2 เนื่องจากเพลี้ยแป้งแพร่ระบาดโดยการอาศัยมดพาไป จึงควรป้องกันมด โดยใช้ผ้าชุบสารฆ่าแมลง เช่น มาลาไทออน 83% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พันไว้ที่กิ่งของกระท่อม หรือพ่นสารฆ่าแมลงดังกล่าวที่โคนต้น