ข่าวสาร
F02 การขยายพันธุ์พืช
19 พฤษภาคม 2565
เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมบาฮี ลดนำเข้า เพิ่มโอกาสรายย่อย

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ บริษัท พี โซลูชัน จำกัด พัฒนาเทคนิคการขยายพันธุ์อินทผลัมพันธุ์บาฮีในเชิงการค้า โดยใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำให้สามารถขยายต้นกล้าอินทผลัมพันธุ์บาฮีในระดับห้องปฏิบัติการ และต่อยอดสู่ในระดับเชิงพาณิชย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช.

ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค เผยว่า อินทผลัมเป็นพืชตระกูลปาล์มที่โตช้า ดังนั้นการพัฒนาเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการจึงใช้ระยะเวลานาน ทีมวิจัยจึงเริ่มที่การคัดเลือกต้นอินทผลัมเพศเมียสายพันธุ์บาฮีที่มีลักษณะดี เพื่อใช้เป็นต้นแม่ โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก นายรณชัย วงษ์ศรีทา เกษตรกรเจ้าของอินทผลัมสวนลุงขุน อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี โดยนำเนื้อ เยื่อเจริญส่วนยอดและใบอ่อนของต้นแม่มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเป็นเวลากว่า 1-2 ปี จนสามารถชักนำให้เกิดการพัฒนาเป็นกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่าแคลลัส และแคลลัสสามารถเจริญไปเป็นต้นอ่อนสมบูรณ์ได้

“ในอินทผลัมเราสามารถทำได้เร็วกว่าปาล์มน้ำมัน ระยะเวลา 1-2 ปีจะเริ่มเห็นเป็นยอดอ่อนสีเขียวพัฒนาจากแคลลัสแล้ว แต่ในปาล์มน้ำมันใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี โดยยอดอ่อนสีเขียวที่เห็นนี้ถือว่าสำเร็จไปแล้ว 80% และจากประสบการณ์ของทีมวิจัย เราเห็นแนวโน้มว่าจะพัฒนาไปเป็นต้น พร้อมนำลงปลูกในดินต่อไป ในอนาคตคาดว่าจะมีการใช้ระบบไบโอรีแอคเตอร์เข้ามาช่วยเร่งกระบวนการในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของอินทผลัมบาฮี เพื่อเพิ่มจำนวนให้ได้เป็นจำนวนมาก”

ดร.ยี่โถ กล่าวว่าที่ผ่านมาเราต้องนำเข้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อราคาสูงจากอิรัก อียิปต์ รวมถึงอังกฤษ ฉะนั้นจึงมีแต่เกษตรกรรายใหญ่หรือผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่ลงทุนปลูกได้ แต่หากเราสามารถผลิตต้นกล้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เองในประเทศ และทำให้มีราคาถูกกว่าของต่างประเทศ จะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้มาก และทำให้เกษตรกรรายย่อยมีโอกาสปลูกได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ที่การนำเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาใช้ในการขยายพันธุ์อินทผลัมพันธุ์บาฮีในเชิงการค้าครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของงานวิจัยที่ไบโอเทคนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเศรษฐกิจที่มีอายุยาวในประเทศไทย


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู