ข่าวสาร
P36 การปรับปรุงดิน
20 มกราคม 2565
นาโนแคลเซียมคาร์บอเนต เพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

นาโนแคลเซียมคาร์บอเนต คือ แคลเซียมคาร์บอเนตที่เป็นเทคโนโลยีนาโน ตกตะกอนละเอียดเป็นพิเศษ เส้นผ่านศูนย์กลางอนุภาคน้อยกว่า 100 นาโนเมตร ถูกใช้เป็นสารเติมแต่งในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น พลาสติก สี ยาง หรือใช้เป็นอาหารเสริมมนุษย์ เป็นสารที่มีอนุภาคเป็นบวก ในพืชจะถูกใช้ในการเข้าไปเพิ่มคุณค่าธาตุอาหาร และเพิ่มความทนทานต่อศัตรูพืช ช่วยให้รากลงลึกและเร็ว ทำให้ดูดซับธาตุอาหารได้ดีขึ้น

งานวิจัยของประเทศทางยุโรปและกลุ่มตะวันออกกลางในพืชปลูกใหม่ อาทิ อะโวคาโด ในแปลงปลูกทะเลทราย เช่น ประเทศอิสราเอล นาโนแคลเซียมคาร์บอเนตช่วยลดการคายน้ำในสภาวะแล้ง จึงทำให้ทนทานต่อสภาพแล้งได้ยาวนานขึ้น ขณะที่บ้านเรายังไม่มีคนรู้จักกันมากนัก

นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะทำงานด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา เผยว่า ความสำเร็จครั้งแรกที่ร่วมวิจัยกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำนาโนแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดแขวนลอยไปทดสอบวิจัยทั้งแปลงของเกษตรกรและของมหาวิทยาลัย ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของ จ.นครราชสีมา ที่ประสบปัญหาไวรัสใบด่างประมาณ 500,000 ไร่ จนทำให้ผลผลิตลดลง

ผลปรากฏว่าผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากได้ผลผลิตไร่ละ 3 ตัน เพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็น 6 ตัน อีกทั้งนาโนแคลเซียมคาร์บอเนตยังไปกระตุ้นให้พืชเกิดสภาพต้านทานไวรัส โดยการสร้างสารโปรตีน 2 ชนิด ชนิดแรกจะเป็นตัวทำลายไวรัสใบด่าง ชนิดที่ 2 สร้างฮอร์โมนไปกระตุ้นกลิ่นที่มีอยู่ในมันสำปะหลัง ซึ่งแมลงไม่ชอบ ทำให้ทั้งโรคใบด่างและแมลงลดน้อยลงไปมาก จึงมองว่าหากนำมาทดลองในแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่บ้านเรายังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ น่าจะเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกร

ล่าสุด จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) และมูลนิธิอุษรินทร์ ศึกษาวิจัยและทดลองใช้นาโนแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดแขวนลอยในแปลงเกษตรกร 5 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี, สระบุรี, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา โดยผสมน้ำพ่นตั้งแต่ขั้นตอนการปรับดิน ในดินที่ค่า pH ต่ำกว่า 5 ใช้นาโนแคลเซียมคาร์บอเนต ไร่ละ 10 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร พ่นให้ทั่ว ส่วนดินที่ค่า pH 5 ขึ้นไป ใช้นาโนแคลเซียมคาร์บอเนต ไร่ละ 5 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร จากนั้นเมื่อปลูกข้าวโพดไปแล้ว 20-30 วัน ให้ปรับลดนาโนแคลเซียมคาร์บอเนตให้เหลือไร่ละ 2 ลิตร ผสมน้ำเท่าเดิมพ่นทางใบ ส่งผลให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 18-28% บางแปลงเพิ่มได้ถึง 30%

ภายใต้การทำเกษตรกรรมของเกษตรกรปกติเหมือนเดิมทุกประการ ที่สำคัญพบว่าใช้งานง่ายและประหยัดกว่าการใช้ปูนขาวโดโลไมท์ปรับสภาพดิน ที่มีราคาไร่ละกว่า 10,000 บาท แต่ใช้นาโนแคลเซียมคาร์บอเนตมีต้นทุนแค่ไร่ละ 300 บาท

“ปัจจุบันเราผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ 4.7-4.8 ล้านตัน แต่ความต้องการอยู่ที่ 8-9 ล้านตัน ตลาดยังมีความต้องการสูงมาก ขณะที่มันสำปะหลังผลิตได้ 30 ล้านตัน แต่ความต้องการอยู่ที่ 40 ล้านตัน ฉะนั้นโอกาสด้านการตลาดยังมีอีกเยอะ ต้องฝากไปยังหน่วยงานของรัฐถึงเรื่องการศึกษาวิจัยต่อยอดในการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีนี้ แล้วเร่งถ่ายทอดความรู้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซึ่งจะสร้างความมั่นคงให้เกษตรกรในอนาคตต่อไป ขณะที่นโยบายภาครัฐก็จะใช้เรื่องของงบประมาณน้อยลงด้วย”


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู