ข่าวสาร
P06 พลังงานทดแทน
17 มกราคม 2565
พลังงานผนึกเกษตรฯ ลุยศึกษาพื้นที่เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนเฟส 2

พลังงานผนึกเกษตรฯ ลุยศึกษาพื้นที่เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนเฟส 2 จำนวน 400 เมกะวัตต์ คาด มี.ค. 2565 เคาะพื้นที่ มั่นใจปลายปี 2565 คลอดนโยบายชัดเจน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนระยะที่ 2 (เฟส 2) ปริมาณ 400 เมกะวัตต์ ว่าคาดจะประกาศนโยบายปลายปี 2565 หรืออย่างช้าต้นปี 2566 เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ

โดยขณะนี้ ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การไฟฟ้าฯ ศึกษาพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์เป็นตัวตั้ง ประกอบด้วย 1. พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ราคาขายขาดทุน รัฐบาลต้องใช้เงินเยียวยาสูง 2. พื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง หรืออยู่ปลายสาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบพื้นที่ทั้งหมดจะต้องดูว่าพื้นที่นั้นควรปลูกพืชอะไร ให้สอดคล้องนโยบายกระทรวงเกษตรฯ และสอดคล้องกับความต้องการของระบบไฟฟ้า คาดว่าภายในเดือน มี.ค. 2565 จะได้พื้นที่ที่เหมาะสม ส่วนรูปแบบของผลประโยชน์ชุมชนอาจนำแนวทางผลประโยชน์ของโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง เช่น ให้วิสาหกิจชุมชนมีหุ้น 10% เข้ามาใช้ในเฟส 2 ด้วย เป็นต้น

“การประมูลอาจเป็นการประมูลพื้นที่ใครพื้นที่มัน เพราะด้วยพื้นที่แตกต่างกัน บางพื้นที่อาจทำได้ 2 เมกะวัตต์ บางพื้นที่อาจได้ 8 เมกะวัตต์ หรืออาจใช้วิธีแบ่งพื้นที่ซึ่งทีมงานกำลังย่อยพื้นที่ พร้อมกับหารือกับกระทรวงเกษตรฯ ว่าพื้นที่ไหนที่ต้องจ่ายเงินเยียวยาเยอะก็อาจจะให้พื้นที่นั้นก่อน” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐกล่าวว่า เบื้องต้นมองว่าถ้าเป็นพื้นที่ปลายสายการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจะคุ้มค่ากว่า ซึ่งปัญหาที่พบคือไม่มีใครทราบได้ว่าพืชเศรษฐกิจราคาจะตกต่ำเมื่อไหร่ จะเห็นได้ชัดเจนคือ การปลูกข้าวในช่วงนี้ชาวนาพบปัญหาขาดทุนแม้จะได้รับเงินเยียวยาก็ถือว่าไม่คุ้มทุน ซึ่งหากโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้น เกษตรกรอาจแบ่งพื้นที่ทำนามาปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อให้เกิดรายได้ทดแทน

นอกจากนี้ ปัจจุบันราคาค่าไฟแพง โรงไฟฟ้าชุมชนราคาจะถูกกว่าค่าไฟที่มาจากแก๊ส ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการคือทำให้โรงไฟฟ้าชุมชนสามารถจ่ายไฟได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะต้องดูพื้นที่ด้วยเช่นกัน และหากบริหารจัดการได้ตามเป้าหมาย จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

“ยิ่งพื้นที่ที่ไฟเข้าไม่ถึง การทำระบบไมโครกริดจะดีมาก ทำควบคู่กับโซลาร์เซลล์ จะช่วยในเรื่องความต้องการขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล เพราะหากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายการเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลจะเกิดต้นทุนจากภาคงขนส่ง การทำโรงไฟฟ้าจึงดีกว่า แต่จะต้องดูในเรื่องของพืชที่จะปลูกในพื้นที่นั้น ๆ เช่นกัน” นายประเสริฐกล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) จำนวน 43 รายปริมาณพลังงานไฟฟ้า 149.50 เมกะวัตต์นั้น กรมฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบให้ความรู้และรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง พบว่าวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่อยากให้เปิดโรงไฟฟ้าชุมชนโดยเร็ว โดยแต่ละพื้นที่ต่างมีการจัดตั้งทีมงานให้ความรู้ มีพันธุ์กล้าให้พร้อมเก็บเกี่ยวพืชเกษตร และขนย้ายแบบครบวงจร ประชาชนในพื้นที่แทบไม่ต้องทำอะไร

“ตอนนี้ได้ให้เวลาเจ้าหน้าที่เดินทางให้ครบทุกพื้นที่ภายในเดือน มี.ค. 2565 เพื่อให้ทราบถึงปัญหา พร้อมทำแผนมอนิเตอร์ทั้ง 43 โครงการว่ามีการเริ่มปลูกพืชอะไรไปถึงไหนแล้วบ้าง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบการต่อต้าน มีแต่จะถามว่าเมื่อไหร่จะสร้างเสร็จ อย่างจังหวัดขอนแก่น สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะมีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ในขณะที่พื้นที่อื่นก็พร้อมเช่นกัน” นายประเสริฐกล่าว


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู