ข่าวสาร
F50 โครงสร้างของพืช
25 มิถุนายน 2564
กัญชง

􀁡กัญชง 􀁡 พืชที่กลับมาฮิตติดกระแสอีกครั้งในโลกใหม่ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อคทางกฎหมายเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น บทความนี้รวบรวมแบบย่อเกี่ยวกับ ลักษณะทั่วไปของกัญชง องค์ประกอบทางเคมี ผลิตภัณฑ์กัญชงและการใช้ประโยชน์ กฎหมายและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สนใจติดตามอ่านเพิ่มเติมได้เลยค่ะ

กัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp) มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Cannabis sativa L. subsp. sativa เป็นพืชวงศ์กัญชา Cannabaceae
􀁁ลักษณะทั่วไป
• ลำต้น สูงประมาณ 2 เมตรขึ้นไป สูงเรียว เป็นเหลี่ยม โดยจะมีความกลมเฉพาะบริเวณโคนต้นเหนือจากพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร ประกอบด้วยเซลล์ไฟเบอร์ที่มีผนังหนามาก
• ปล้องหรือข้อ ยาว มีระยะห่างของใบบนลำต้นกว้างทำให้ทรงต้นกัญชงเป็นพุ่มโปร่ง เพศผู้มีข้อปล้องที่ยาวกว่าเพศเมียซึ่งข้อปล้องสั้นและใบเรียงชิดกัน
• กิ่งกระจัดกระจายไม่เกาะกลุ่ม
• ใบ เป็นใบเดี่ยว มีการจัดเรียงใบในช่วง 9 คู่แรกแบบ opposite และ หลังจากนั้นเป็นแบบ spira ใบกัญชงจะมีขนาดใหญ่กว่ากัญชา การเรียงสลับของใบค่อนข้างห่างชัดเจน ใบมีสีเขียวอมเหลือง เป็นใบเดี่ยวรูปฝ่ามือ ใบแก่แยกเป็นแฉก 7-9 แฉก ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายใบสอบ เรียวแหลม
• ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ดอกเพศผู้และเมียอยู่ต่างต้นกัน ออกดอกเมื่ออายุมากกว่า 4 เดือน
ดอกเพศผู้: ช่อดอกเพศผู้เป็นแบบ panicle ลักษณะช่อดอกห้อยลง ดอกย่อยมีกลีบรวม 5 กลีบ มีสีเขียวอมเหลืองและมีอับละอองเรณู 5 อัน
ดอกเพศเมีย: ช่อดอกเป็น แบบ Spike เกิดตามซอกใบและปลายยอดในบริเวณช่อดอกจะอัดกันแน่น
• ผลเป็นแบบ achene มีลักษณะคล้ายลูกรักบี้ สีน้ำตาล มีลายประ ภายในมีเมล็ด
• เมล็ดมีขนาดใหญ่ เมื่อแห้งจะเป็นสีเทาขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร เมล็ดผิวเรียบเป็นมัน ลายประสีน้ำตาล เมล็ดมีน้ำมันกว่า 30 % ประกอบด้วยไขมันไม่อิ่มตัว ทั้งไลโนเลอิคและโอลิอิค มีโอเมก้า 3, 6, 9 และสารในกลุ่มวิตามินอี
• เปลือกและเส้นใย ละเอียด เหนียว ลอกง่าย และให้เส้นใยยาวคุณภาพสูง
• ช่อดอก/ยาง ไม่มียางเหนียวติดมือ
• ราก เป็นระบบรากแก้ว (Tap root system) และมีรากแขนงเป็นจำนวนมาก รากมีการเรียงตัวของกลุ่มท่อน้ำเป็นแบบ diarch
• เป็นไม้ล้มลุกมีอายุเพียง 1 ปี อายุเก็บเกี่ยว 3-4 เดือน
􀁁องค์ประกอบทางเคมี
สารสำคัญในกัญชง 2 ชนิดเด่น ได้แก่ 
• สารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol) หรือ ซีบีดี/CBD มีปริมาณสูงกว่าสารทีเอชซี/THC สายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วมี CBD สูงได้ถึง 25 %
• สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ ทีเอชซี/THC มีปริมาณต่ำ ซึ่งไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการเมาหรือมีฤทธิ์ต่อประสาท
ใบกัญชงมีสรรพคุณทางยาในการบำรุงโลหิต ทำให้ผ่อนคลาย สดชื่น ทำให้นอนหลับสบาย ช่วยรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ไมเกรน ช่วยแก้กระหาย รักษาโรคท้องร่วง โรคบิด บรรเทาอาการเจ็บปวดคลายความเกร็งของกล้ามเนื้อ และรักษาโรคเกาต์
􀂳การปลูก
สามารถปลูกได้หลากหลายสภาพภูมิอากาศ ไม่ต้องดูแลมาก อายุโตเต็มวัยประมาณ 108-120 วัน ผู้ปลูกที่เน้นสาร CBD และสารหอมระเหยจากดอก มักจะปลูกแต่เพศเมียเพื่อนำดอกมาใช้ ส่วนผู้ที่ต้องการปลูกเพื่อเส้นใยหรือเมล็ดมาใช้ก็จะนิยมเพศผู้
􀁑ผลิตภัณฑ์กัญชงและการใช้ประโยชน์
1. กลุ่มใช้ประโยชน์จากเส้นใย
• เส้นใยส่วนเปลือกของลำต้นจะให้เส้นใยที่เรียกว่า Bast fiber และส่วนของแกนด้านในของลำต้นจะให้เส้นใยที่เรียกว่า Hurd fiber เส้นใยกัญชงมีคุณภาพสูงและแข็งแรงสามารถแปรรูปเป็นเชือก เยื่อกระดาษ เสื้อผ้าและเสื้อเกราะได้ ผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชง บางเบา สวมใส่ไม่ระคายผิว สามารถดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอนและให้ความอบอุ่นมากกว่าลินินเหมาะสำหรับนำมาทำเครื่องนุ่งห่ม
2. กลุ่มใช้ประโยชน์จากเมล็ดและส่วนอื่น ๆ
• สาร CBD/น้ำมันซีบีดีที่สกัดจากกัญชงใช้เป็นส่วนผสมในในผลิตภัณฑ์น้ำมัน อาหาร เครื่องดื่ม เช่น กาแฟ คุกกี้
• เมล็ดกัญชงมีโปรตีนสูงมากกว่าถั่วเหลือง สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เนย ชีส เต้าหู้นม ไอศกรีม อาหารเสริม ขนมขบเคี้ยว หรือแปรรูปเป็นแป้งใช้ทดแทนถั่วเหลือง
• เมล็ดกัญชงนำสกัดน้ำมันนำมาใช้ในการปรุงอาหารได้ มีประโยชน์ในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมทั้งลดการเกิดมะเร็งในร่างกาย น้ำมันในเมล็ดกัญชง มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดเดียวกันกับที่พบในน้ำมันปลา
• ใบตากแห้งชงเป็นชา
• ใช้เป็นส่วนผสมของเส้นพาสต้า คุกกี้ขนมปัง
• แปรรูปเป็นสบู่ สครับ เครื่องสำอาง และบรรจุภัณฑ์
• ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ-เยื่อคราฟท์จากไม้กัญชง อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ 
• บล็อกก่อสร้างมวลเบาจากต้นกัญชง 
• สกัดเป็นมันหอมระเหยในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
• เนื้อไม้ของต้นกัญชงที่ลอกเปลือกออกแล้วนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตกระดาษได้ ส่วนแกนของต้นกัญชงมีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น หรือน้ำมันได้ดีในต่างประเทศนิยมนำไปผลิตพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แอลกอฮอล์ ถ่านไม้เอทานอล เมทานอล เป็นต้น รวมถึงการนำไปทำผลิตภัณฑ์ตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ด้วย
􀀵กฎหมาย􀀵
ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กัญชา และ กัญชง เป็นพืชที่มีลักษณะและสรรพคุณใกล้เคียงกัน จึงถูกระบุให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต และจำหน่าย นำเข้า ส่งออก ห้ามมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะอนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เป็นราย ๆ ไป
• กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวง  เรื่องการขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 เฉพาะกัญชง พ.ศ. 2563 ให้ขออนุญาตปลูก ผลิต ส่งออก จำหน่าย ครอบครอง ได้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 โดยให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ตามภารกิจของหน่วยงานรัฐ ใช้ประโยชน์จากเส้นใยตามประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และใช้ในครอบครัวเท่านั้น ปลูกได้ครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่ และเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมทางการแพทย์ การศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง ซึ่งเป็นการปลดล็อกกัญชงในวงกว้าง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 
• ส่วนต่าง ๆ ของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย, สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.2 %, เมล็ด น้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ด และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชง ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2 %
􀁬งานวิจัย
• มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รับทุนวิจัย 10 ล้านบาทจากภาคเอกชนในการปรับปรุงพันธุ์กัญชง  พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านกัญชงและสมุนไพร ในวันที่ 16 มีนาคม 2564 เพื่อรองรับตลาดอาหารและเครื่องดื่ม
• พันธุ์กัญชงที่ได้รับรองพันธุ์ มีเพียงแค่ 4 สายพันธุ์คือ คือ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 และใน 4 สายพันธุ์นี้ ยังไม่มีสายพันธุ์ใดที่เหมาะสมที่จะปลูกเพื่อนำดอกกัญชง ไปผลิตสารสำคัญเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจัยปรับปรุงพันธุ์ที่จะต้องหาทางปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย สามารถให้ดอกที่มีปริมาณสาร Cannabinoids: CBD ในปริมาณสูงที่นำไปใช้ประโยชน์ได้
􀁷เอกสารอ้างอิง
1. ลิลลี่ กาวีต๊ะ, กมลินทร์ พรหมรัตน์รักษ์, มาลี ณ นคร, ยุพดี เผ่าพันธุ์, ศรีสม สุวรรณวงศ์, สุรียา ตันติวิวัฒน์ และ วีระชัย ณ นคร. (2547). เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 42: สาขาพืช สาขาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร. สัณฐานวิทยาและกายวิภาคของกัญชง. (651 หน้า). กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย.
2. พรรณนีย์ วิชชาชู. (2563). กัญชง-กัญชา. น.ส.พ. กสิกร, 93(6), 54-62.
3. รู้จักกับกัญชง กัญชา และเทรนด์ตลาดในสหรัฐฯ. (2562). สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaibicusa.com/.../%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8.../
4. กัญชา กัญชง เพื่อสุขภาพ. (2564). สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.cannabisthai.net/
5. มนทิรา สุขเจริญ และ พันธวัศ สัมพันธ์พานิช. (2562). จุดเริ่มต้นว่าด้วยเรื่องของเฮมพ์หรือกัญชงที่ไม่ใช่กัญชา. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 23 (ฉบับที่ 3).
6. ผกาทิพย์ รื่นระเริงศักดิ์. (2562). กัญชากับการรักษาโรค. สืบค้นเมื่อ 19  เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/.../%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0.../
7. กัญชา-กัญชง ต่างกันอย่างไร กฎหมายอนุญาตใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง. (2562). สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.prachachat.net/d-life/news-618836
8. น้ำมันซีบีดี (CBD oil) ต่างจากน้ำมันกัญชา (Cannabis oil) อย่างไร. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.medibis.shop/post/cbd-vs-cannabis-oil
9. อาคม กาญจนประโชติ. (2550). กัญชง : Hemp. เชียงใหม่


แหล่งที่มา

นักเอกสารสนเทศ ฝ่ายสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
https://timeline.line.me/post/1161968377508010233
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู