ข่าวสาร
A50 วิจัยเกษตร
17 พฤษภาคม 2564
ถอดรหัสงานวิจัย มก. : การพัฒนากระดาษฟางข้าวเคลือบน้ำมันพลูเพื่อยืดอายุการเก็บทุเรียนกวน

🍬 ช่วงนี้เป็นฤดูกาลของผลไม้ตามฤดูกาล อย่าง เงาะ มังคุด ทุเรียน ซึ่งปี 2564 ผลผลิตทุเรียนก็กำลังออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก แต่ถึงอย่างนั้น ในสวนของเกษตรกรก็ยังคงมีทุเรียนขนาดตกเกรด หรือทุเรียนไม่ได้คุณภาพส่งออกจำนวนไม่มากก็น้อย ทำให้ชาวสวนทุเรียนส่วนใหญ่จะนิยมนำทุเรียนเหล่านั้น มาแปรรูปเป็นทุเรียนกวน แต่ปัญหากวนใจสำหรับการทำทุเรียนกวน คือ ระยะเวลาเก็บรักษาที่สั้น เพราะมักจะโดนเชื้อราความเสียหาย ทำให้ต้องผลิตตามคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) หรือจำหน่ายได้แค่ในพื้นที่เท่านั้น

✨ ดังนั้น "ถอดรหัสงานวิจัย มก." ครั้งนี้จึงอยากนำเสนอผลงานงานวิจัย เรื่อง การพัฒนากระดาษฟางข้าวเคลือบน้ำมันพลูเพื่อยืดอายุการเก็บทุเรียนกวน จาก การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 41 สาขาอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว

ผลงานวิจัยระบุว่า เมื่อนํากระดาษฟางข้าวมาเคลือบด้วยสารละลายน้ำมันพลูที่มีความเข้มข้นของสารกลูโคแมนแนน ร้อยละ 0.75 พบว่า สารละลายน้ำมันพลูที่มีความเข้มข้นของน้ำมันพลูร้อยละ 1 สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการเสื่อมเสียของทุเรียนกวน คือ Aspergillus niger, Eurotium amstelodami และ Penicillium camemberti ได้และเมื่อนํากระดาษฟางข้าวเคลือบสารละลายน้ำมันพลูที่มีความเข้มข้นร้อยละ 1 มาใช้ร่วมกับฟิลม์โพลีโพรพิลีนในการเก็บรักษาทุเรียนกวน พบว่า สามารถยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนกวนที่อุณหภูมิห้องเป็นระยะเวลา 90 วัน สําหรับการศึกษาการยอมรับกระดาษฟางข้าวเคลือบน้ำมันพลูของผู้บริโภคพบว่า ผู้บริโภคให้การยอมรับกระดาษฟางข้าวเคลือบน้ำมันพลู ร้อยละ 83.5

การทดสอบการยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์กระดาษฟางข้าวเคลือบน้ำมันพลู พบว่า ผู้บริโภคให้การยอมรับผลิตภัณฑ์ฯ ในระดับชอบเล็กน้อย โดยมีคะแนนความชอบเฉลี่ยด้านความชอบรวม สีกลิ่น กลิ่นรส รสชาติและกลิ่นรสตกค้างอยู่ระหว่าง 6.01-6.38

สำหรับการสกัดน้ำมันกานพลู ทำได้โดยนําใบพลูสด (Piper betle Linn.) มาแยกน้ำมันหอมระเหยด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำและไอน้ำ ทั้งนี้

เมื่อนําน้ำมันหอมระเหยที่ได้ไปวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยเครื่อง GC-MS พบสารองค์ประกอบที่สําคัญ 15 ชนิดเรียงลําดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ Isoeugenol, Eugenol acetate, 4-allyl-1,2-diacetoxybenzene, Copaene, Caryophyllene, β-gurjunene, Isoledene, Chavicol acetate, Cineole, αcaryophyllene, Chavicol, Linalool, Elemene, และ Eugenol

อ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่ : https://kukr2.lib.ku.ac.th/kukr_es/kukr/search_detail/result/8550

 


แหล่งที่มา

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักหอสมุด คลังความรู้ดิจิทัล มก.
https://kukr2.lib.ku.ac.th/kukr_es/kukr/search_detail/result/8550
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู