ข่าวสาร
N20 เกษตรกลวิธาน
28 ตุลาคม 2563
มช.โชว์นวัตกรรม หุ่นยนต์ห่อมะม่วง หนุนเกษตรอัจฉริยะ

"มะม่วง" เป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของไทยที่ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้ที่มีขั้นตอนและวิธีการดูแลที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนสายพันธุ์อื่น นั่นคือการห่อผลมะม่วงให้ได้ผลเป็นสีเหลืองทองและสวยงาม แต่ปัญหาของเกษตรกรที่พบคือ การห่อที่มีความคลาดเคลื่อน ทำให้ผลมะม่วงเกิดเชื้อราและมีแมลงเข้าไปทำลายเปลือกและเนื้อ ทำให้เกิดความไม่สวยงามของตัวผลมะม่วง

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้ทำการพัฒนาหุ่นยนต์ระบบ AI ในการช่วยห่อมะม่วงขึ้นมา เพื่อความแม่นยำ ลดการสูญเสียและเพิ่มความสะดวกให้แก่เกษตรกร

หุ่นยนต์ห่อมะม่วงระบบ AI เป็นการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์โรโบติกส์เข้ามาใช้ในสวน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการทำงาน เพราะฉะนั้นหุ่นยนต์ต้องมีเรื่องของระบบการเซนเซอร์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการรับรู้เรื่องสภาพแวดล้อมภายนอก รวมทั้งหุ่นยนต์ต้องหาผลมะม่วงได้ด้วยตัวเอง โดยหุ่นยนต์จะถูกควบคุมด้วยระบบ AI ผสานกับเทคโนโลยีการตรวจจับวัตถุเข้าด้วยกัน

ซึ่งสามารถตรวจจับสีของมะม่วงได้ว่าตรงไหนเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง มีการติดกล้องขนาดเล็กไว้ที่ตัวหุ่นยนต์ จากนั้นจะส่งข้อมูลไปที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีการวัดระยะความห่างของมะม่วงได้อย่างแม่นยำ ทำให้การห่อมะม่วงแต่ละครั้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การห่อที่ถูกต้อง เพียงแค่นำถุงคาร์บอนไปติดตั้งที่ปลายแขนของหุ่นยนต์ เครื่องก็จะใช้การตรวจจับของระบบ AI สั่งการได้ทันที

ในอนาคตสามารถที่จะนำหุ่นยนต์ไปทดลองกับผลไม้ชนิดอื่นๆ ได้ รวมถึงการพัฒนาให้หุ่นยนต์มีความสามารถในการช่วยตัดแต่งกิ่งที่มีขนาดเล็ก ไปจนถึงเรื่องของการเก็บข้อมูลทางสถิติว่าจำนวนผลมะม่วงที่เก็บได้ในแต่ละต้นแต่ละปีเป็นเท่าไหร่ สำหรับนวัตกรรมชิ้นนี้ถือว่ามีความแม่นยำที่สูงมากในการห่อมะม่วง ช่วยลดปัญหาการห่อของชาวสวน ทั้งในเรื่องการจ้างแรงงาน ซึ่งลักษณะแรงงานโดยทั่วไปต้องอยู่กลางแดด เผชิญกับความเหนื่อยล้า ความเร่งรีบในการห่อ และเรื่องของการห่อผิดขนาด จากนวัตกรรมหุ่นยนต์ห่อมะม่วงนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่พัฒนาและต่อยอดมากจากการประกวดแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ สำหรับการเกษตรอัจฉริยะ

โดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดครั้งนี้และนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยให้สามารถใช้งานได้จริง รวมถึงเพิ่มมูลค่าทางการผลิตให้กับเกษตรกรได้ในอนาคต

ด้วยศักยภาพและความเชี่ยวชาญของอาจารย์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร อันจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการกระตุ้นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย และเพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้งในแง่ของการยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีความทันสมัย และสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ


แหล่งที่มา

ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู