ถาม-ตอบ
การเจริญเติบโตของพืช
ถามเมื่อ 23 พฤษภาคม 2565
อยากเรียนสอบถามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกดอกของไม้ผลยืนต้นครับ

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกดอกของไม้ผลยืนต้นนั้น มีสิ่งต่าง ๆ อยู่มากมาย ทั้งด้านการเจริญเติบโต การจัดการโครงสร้างของทรงพุ่ม สภาพแวดล้อม รวมทั้งพืชเอง แต่ช่วงความยาวของแสงในรอบวัน (Photoperiod) ไม่มีอิทธิพลต่อการออกดอกแต่อย่างใด แต่ปริมาณหรือความเข้มแสง Llight intensity) มีผลโดยตรงต่อการสังเคราะห์แสง ซึ่งส่งผลต่อปริมาณอาหารที่พืชจะสร้างได้โดยตรง โดยอาหารที่พืชสร้างขึ้นนี้คือ Carbohydrates (CHO) จากนั้นพืชก็จะนำเอา CHO นี้ไปใช้ประโยชน์กับการเจริญเติบโต โดยจะพบอยู่ใน 2 ลักษณะ 1. CHO ที่เป็นส่วนประกอบของโครงสร้าง (Structural carbohydrates) หลัก ๆ แล้วสารเหล่านี้จะพบเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ เช่น Cellulose, Pectic substances, Lignin ฯลฯ 2. CHO ที่ไม่ได้อยู่ในรูปโครงสร้าง (Non-strucural carbohydrates) สารเหล่านี้สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำปฏิกิริยาได้ โดยจะพบอยู่ใน 2 รูปแบบ คือ 2.1 รูปที่ไม่ละลายน้ำ เคลื่อนย้ายไม่ได้ นั่นก็คือ มีการเก็บสะสมในรูของเม็ดแป้ง (Starch) 2.2 รูปที่ละลายน้ำได้ เป็นรูปที่ใช้ทำปฏิกริยาและเคลื่อนย้ายได้ ที่พบมากที่สุด คือ 2.2.1 น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharides) ได้แก่ Glucose กับ Fructose 2.2.2 น้ำตาลสองโมเลกุล (Disaccharides) ได้แก่ Sucrose น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเป็นรูปที่พืชใช้ทำปฏิกิริยา เมื่อโมเลกุลของทั้งสองชนิดมารวมกัน ก็จะกลายเป็น Sucrose อันเป็นรูปที่พืชใช้เคลื่อนย้ายภายในลำต้น จากจุดที่มีการสร้างไปสู่จุดที่มีการใช้ เช่น ใบอ่อน การออกดอกหรือสะสม เช่น ในรากหรือหัว หรือส่วนของผล เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณของ CHO ที่ไม่ได้อยู่ในรูปของโครงสร้างนี้มีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์ของต้น ทั้งในเรื่องของการออกดอก การติดผล คุณภาพของผล หรือการผลิยอด การสร้างราก เป็นต้น การเจริญเติบโตของพืชอาจแบ่งได้เป็น 2 ด้าน 1. การเจริญเติบโตด้านกิ่งใบ (Vegetative growth; V) 2. การเจริญเติบโตด้านการสืบพันธุ์ (Reproductive growth; R) ซึ่งก็คือ การออกดอก (Flowering) ในยุคที่มีการค้นพบฮอร์โมนพืชระยะแรก ๆ นั้น นักวิทยาศาสตร์ทุ่มเทให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยตั้งความหวังไว้เหมือนกับเป็นสารเทวดาที่จะเนรมิตสิ่งใดก็ได้ แต่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์หลาย ๆ กรณีได้โดยเฉพาะในเรื่องของการออกดอก ความคิดดังกล่าวจึงล้มเลิกไป ปัจจุบันนี้ สมมุติฐานของการออกดอก (Flowering hypothesis) ได้มุ่งเน้นมาตรงจุดที่เกี่ยวข้องกับการลดการเจริญเติบโตด้านกิ่งใบ (V) ก็จะมีโอกาสชักนำให้ต้นไม้สามารถมีการออกดอก (R) ได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การจัดการต้นไม้จึงมีเป้าหมายในการควบคุม V ให้ลดต่ำลงเมื่อถึงระยะที่จะเตรียมต้นเข้าสู่ระยะของการออกดอก ธาตุ Nitrogen หรือ N มีบทบาทที่สำคัญต่อทุกระยะของการเจริญเติบโตของพืช ไม่ว่าจะเป็นระยะการผลิใบอ่อน การออกดอก การเติบโตของผล หรือการสร้างรากใหม่ พืชต้องการ N ในปริมาณที่สูงมาก N เป็นส่วนประกอบของกรดอะมิโน (Amino acids) ทุกชนิด ซึ่งกรดที่สำคัญมีมากกว่า 20 ชนิด ลำดับของกรดเหล่านี้มาจับเรียงต่อ ๆ กันเป็นสายยาว แต่มักขดแล้วยึดติดกันกลายเป็นโปรตีน (Proteins) โดยทั่วไปแล้วโปรตีนจะมี N ประมาณ 16% โดยน้ำหนัก ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นในเซลล์ที่มีชีวิตกว่าร้อยละ 90 ต้องอาศัยเอ็นไซม์ (Enzymes; E) เป็นตัวเร่ง ซึ่ง E ทุกตัวเป็นโปรตีนที่มักมีจุลธาตุ เช่น Zn, Fe, Cu มาเป็นส่วนประกอบด้วย 1 อะตอม แต่โปรตีนไม่ได้เป็น E ทุกตัว บางชนิดก็เป็นเพียงแค่อาหารสะสม เช่น ในข้าวสาลีกับถั่วต่างๆ นอกจากนี้ N ยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของ Chlorophyll, Nucleic acid เช่น DNA, RNA เป็นที่ทราบกันดีว่า N นั้นส่งเสริมการเจริญเติบโตทางด้านกิ่ง ใบ (Vegetative growth;V) ซึ่งตรงกันข้ามกับการออกดอก โดยปกติแล้วพืชสะสม N ที่ส่วนของใบเป็นหลัก รากพืชสามารถดูดดึง N ทั้งในรูปประจุบวกของ Ammonium (NH4+) และประจุลบของ Nitrate (NO3-) แต่การลำเลียงจากรากขึ้นสู่ใบจะอยู่ในรูปของ Nitrate เมื่อไปถึงส่วนใบก็จะต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนรูปกลับมาเป็นแอมโมเนียมแล้วเข้าไปเป็นส่วนประกอบของกรดอะมิโน ไปสังเคราะห์เป็นโปรตีนและสารอื่น ๆ ต่อไป N สามารถถูกดูดดึงเข้าสู่รากได้โดยง่ายเมื่อมีน้ำเป็นตัวทำละลาย เมื่อ N ขึ้นสู่ใบก็จำเป็นที่จะต้องมีการใช้ CHO เป็นแหล่งของพลังงานในทำปฏิกิริยา จึงทำให้ปริมาณอาหารสะสมลดน้อยลงตามไปด้วย ความเป็นมาของทฤษฎี C/N ratio นี้ ในเบื้องต้นได้มาจากผลงานวิจัยของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ Kraus and Kraybill 1918 ที่ Oregon Agricultural College (ปัจจุบันคือ Oregon State University;OSU) ที่ได้ศึกษา Ratio นี้กับการติดผลของมะเขือเทศ ไม่ได้กล่าวถึงการออกดอกแต่อย่างใด ในระยะต่อ ๆ มาได้มีการอ้างอิงที่บิดเบือนออกไปอย่างมาก โดยลุกลามไปถึงเรื่องการออกดอกของไม้ผลยืนต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อนำทฤษฎีนี้มาประยุกต์ใช้ แต่ต้องไม่อิงกับค่าของสัดส่วนเพียงอย่างเดียว ผู้เขียนยังยืนยันว่า ทฤษฎีนี้สามารถอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของการออกดอกในไม้ผลยืนต้นเขตร้อนทุกชนิดในบ้านเราได้ทุกกรณี ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาตร์ได้พยายามที่จะใช้ทฤษฎีของ C/N ratio มาเป็นตัวหลักในการชี้บ่งถึงความสามารถในการออกดอกของไม้ผลยืนต้น โดยพยายามหาตัวเลขของค่าสัดส่วนนี้ให้สัมพันธ์กับระดับของการออกดอกอยู่เป็นเวลานาน แต่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ที่เกี่ยวกับการออกดอกได้ ในที่สุดก็ได้ล้มเลิกความคิดดังกล่าวนี้ไป แล้วยังได้ตอกย้ำอีกว่าเป็นทฤษฎีของแนวความคิดที่ล้าสมัย โดยทั่วไปได้มีการแบ่ง C/N ratio ไว้เป็น 4 ระดับด้วยกัน ขนาดของตัวอักษรเป็นการบ่งชี้ถึงระดับปริมาณของสารที่มีอยู่ในพืช ณ เวลาที่เก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ ระดับที่ 1 ต้นไม้มีปริมาณ N ที่สูงมาก สภาพต้นมีพุ่มใบที่แน่นทึบ ใบมีขนาดใหญ่ มีสีเขียวจนออกดำ ลักษณะเช่นนี้เป็นอาการที่เรียกว่า"บ้าใบ"อย่างรุนแรง ต้นมีระดับของ CHO ค่อนข้างต่ำเพราะถูกนำไปใช้สร้างใบเกือบทั้งหมด ระดับที่ 2 ต้นไม้ยังคงมีอาการบ้าใบเช่นกัน ทรงพุ่มแน่นทึบ แต่ใบมีขนาดปกติ สีใบเขียวเข้มแต่ไม่ออกดำ มีระดับของ CHO อยู่บางส่วนโดยที่ส่วนใหญ่ก็จะถูกนำไปสร้างใบจำนวนมากเช่นกัน ระดับที่ 3 ต้นมีระดับของ CHO ค่อนข้างสูงในขณะที่มีปริมาณ N ในระดับปานกลาง ถือเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมที่สุด (ideal ratio) ต่อการออกดอกของไม้ผลยืนต้น ระดับที่ 4 ต้นมีสัดส่วนของ CHO ที่สูงมาก (หมายถึงระดับสัดส่วน ไม่ใช่ปริมาณที่มีอยู่จริง) ในขณะที่ N มีปริมาณต่ำจนขาด ลักษณะเช่นนี้จะพบเห็นได้ในต้นไม้ที่ถูกศัตรูพืชเข้าทำลายหรือต้นไม้ที่ผ่านการถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ต้นอาจมีใบเหลือน้อยมาก ใบซีดเหลือง ไม้ต้นนี้อาจมีการออกดอกในปริมาณมากเต็มต้น อาจมีการติดผล มักยืนต้นตายหากไม่มีการจัดการดูแลที่เหมาะสม ตามที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่า ต้นไม้มีการสะสมปริมาณ N ที่ส่วนของใบ ดังนั้นการลดปริมาณ N ในต้นจึงสามารถทำได้ด้วยการตัดแต่งกิ่งให้มาใกล้เคียงกับระดับที่ 3 สำหรับต้นไม้ที่บ้าใบในระดับที่ 1 อาจต้องตัดแต่งกิ่งออกราว 50-60% ส่วนต้นในระดับที่ 2 อาจตัดแต่งกิ่งออกราว 1 ใน 3 จากที่ได้กล่าวไว้ว่า การนำตัวเลขของค่าสัดส่วนเพียงอย่างเดียวมาใช้นั้น ไม่สามารถที่จะตอบโจทย์เกี่ยวกับการออกดอกได้ แต่การที่จะเอาค่าสัดส่วนนี้มาใช้ได้ต้องนำเอาค่าของปริมาณคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในรูปโครงสร้าง (Total Non-strucural Carbohydrates;TNC) กับปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด (Total Nitrogen;TN) มาพิจารณาร่วมกันด้วย จึงจะสามารถตอบโจทย์เกี่ยวกับการออกดอกของไม้ผลยืนต้นได้ทุกกรณี ตัวอย่างของต้นไม้ 3 ต้น สมมติว่าหากสัดส่วนที่เหมาะสมต่อการออกดอกเท่ากับ 7:1 เมื่อดูจากสัดส่วนเพียงอย่างเดียวนั้น ทั้ง 3 ต้นนี้จะเท่ากันหมด แต่โดยธรรมชาติแล้วต้นไม้ที่มี CHO สะสมอยู่มากกว่า ก็ย่อมมีโอกาสของการออกดอกที่ดีกว่าด้วย ดังนั้น โอกาสที่ต้นไม้จะออกดอกได้ดีมากน้อยกว่ากันก็จะเรียงจาก 1 2 3 ขณะเดียวกันปริมาณ TN หากสามารถควบคุมให้ต่ำลงได้ โอกาสของการออกดอกจะยังคงเรียงลำดับเช่นเดิม นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของ TNC, TN และ C/N ratio ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกดอกของไม้ผลยืนต้นอีกกับแนวทางในการควบคุมการเจริญเติบโตด้านกิ่งใบ (V) โดยธรรมชาติแล้วในไม้ผลยืนต้นจะพบการเจริญเติบโตอยู่ 2 ด้าน คือการเจริญเติบโตด้านกิ่งใบ (Vegetative growth;V) กับการเจริญเติบโตด้านการสืบพันธุ์ (Reproductive growth;R) ซึ่งก็คือการออกดอก (Flowering;F) เหมือนน้ำหนักของความสมดุลบนคานตาชั่ง (ดังรูป A) เป็นที่ยอมรับกันของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่ได้มีการเสนอสมมติฐานของการออกดอก (Flowering hypothesis) ไว้ โดยยึดในหลักการที่ว่า ถ้าหากจะชักนำต้นไม้ให้สู่ภาวะของการออกดอกได้ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของการลดการเจริญเติบโตด้านกิ่งใบ ตามปกติแล้วต้นไม้จะมีการเจริญทางด้าน V เป็นหลัก น้ำหนักของคานจึงถ่วงลงมาทางด้านซ้าย (ดังรูป B) ดังนั้น หากต้องการจะทำให้ต้นไม้นี้ออกดอกได้ คานนี้จึงต้องทิ้งมาทางด้านขวา (F) ซึ่งการที่จะทำให้เกิดขึ้นได้อาจกระทำได้โดย (1) เอาก้อนน้ำหนักที่ถ่วงด้าน V ออกไปทีละก้อน หรือ (2) หาก้อนน้ำหนักไปเพิ่มให้ทางด้าน F หรือ (3) ทำทั้ง 1 กับ 2 ไปพร้อมกัน ก็จะยิ่งสามารถทำให้คานทิ้งมาทางด้าน F ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น (ดังรูป C) การลด V นั้นสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การงดน้ำ การปรับลดปุ๋ย N หรือการตัดแต่งกำจัดใบออกไปบางส่วน ในขณะที่การจะเพิ่มน้ำหนักให้ทางด้าน F นั้นมีวิธีไม่มากนัก อย่างเช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของการสังเคราะห์แสง (เนื้อหาในส่วนนี้จะมีการนำเสนอในโอกาสต่อไป) เลยต้องขอย้ำจุดตรงนี้ว่า "ต้นไม้สร้างอาหารได้จากการสังเคราะห์แสงเท่านั้น" "ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกดอกและการผสานวิธีการของการปฏิบัติเพื่อปรับระดับของ C/N ratio ให้สูงขึ้นเพื่อการออกดอกของไม้ผล" มีปัจจัยต่าง ๆ และปัจจัยร่วมที่มีปฏิกริยาสัมพันธ์ (Interaction) ต่อกันค่อนข้างมาก ดังนี้ 1. ความเยาว์วัย (Juvenility;J) ต้นไม้ทุกชนิดที่มีการเริ่มต้นมาจากเอ็มบริโอของเมล็ดเมื่อใด ก็ย่อมจะต้องมีช่วงของความเยาว์วัย (Juvenile phase) ติดมาด้วยเสมอ ต้นไม้จะไม่มีการออกดอกหากยังไม่ผ่านพ้นช่วงนี้ ระยะเวลาอาจสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น มะม่วงในอดีตนั้น หากปลูกด้วยเมล็ดตามที่ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ถึงจะเริ่มให้ดอกผลได้ แต่ในปัจจุบันต้นมะม่วงที่ปลูกด้วยเมล็ดนี้สามารถออกดอกได้ภายในช่วง 2 ปีจากการบำรุงดูแลรักษาที่ดี จึงสามารถร่นระยะเวลาลงได้ อย่างไรก็ตาม ช่วงของ J นี้จะยังคงติดมากับเมล็ดเสมอ โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีตัวชี้บ่งว่าจะหมดสิ้นเมื่อใด จนกว่าจะเริ่มเห็นการออกดอก ในบางพืช เช่น มะกรูด ขนาดของหนามจะเป็นตัวชี้บ่งถึง J นี้ได้ในกรณีของต้นที่ได้มาจากการเเพาะเมล็ด แม้ว่าช่วงระยะ J นี้จะกำจัดไม่ได้ แต่เราสามารถก้าวข้ามได้ด้วยเทคนิคของการติดตาต่อกิ่ง (Grafting) โดยนำยอดพันธุ์จากต้นที่เกิดจากเมล็ดไปติดบนต้นอื่น ก็สามารถทำให้ก้าวผ่านช่วงของ J นี้ได้ 2. อายุของใบ ยอดหรือใบชุดสุดท้ายจะต้องมีความเจริญวัย (Maturity) เสียก่อน โดยที่ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 3 เดือน (90 +/- วัน) ถึงจะมีโอกาสเป็นดอกได้ 3. มุมกิ่ง (Branch angle) กิ่งที่เจริญในแนวตั้งฉากกับพื้นจะมีลักษณะของการเป็นกิ่งกระโดง (Sucker) กิ่งเหล่านี้มีความก้าวร้าวของการเจริญเติบโต มีความแข็งแรงมาก (Vigorous) เป็นกิ่งที่มีการเจริญด้าน V สูงมาก นั่นก็คือโอกาสออกดอกต่ำมาก (กิ่งหมายเลข 1 ในภาพ) ทุก ๆ องศาที่เบี่ยงเบนออกมาจากแนวตั้งฉาก ความแข็งกร้าวของกิ่งทางด้าน V จะลดน้อยลงตามลำดับขององศาที่เพิ่มขึ้นจนถึง 90 องศาซึ่งเป็นกิ่งที่ขนานกับพื้น (หมายเลข 6) กิ่งที่ทำมุมมากกว่า 90 หรือกิ่งที่ห้อยลงหรือมีลักษณะเลื้อย (หมายเลข 7) ถือเป็นกิ่งที่อ่อนแอ (Weak) โอกาสออกดอกมีได้ แต่มักไม่ติดผล ดอกไม่สมบูรณ์ กิ่งที่ทำมุม <45 จัดเป็นกิ่งมุมแคบ มีแนวโน้มที่เจริญขึ้นมาเป็น Sucker ได้ มุมกิ่งเหมาะสมในการออกดอกอยู่ที่ ~60 องศา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหลักการที่สำคัญของการจัดการโครงสร้างพื้นฐานของทรงพุ่มต้นไม้ผล กิ่งที่เป็นกระโดงมักมีอิทธิพลข่มของตายอด (Apical dominance) คือตายอดมีการสร้างสารฮอร์โมนพวกออกซิน (Auxins) เคลื่อนย้ายตามท่ออาหารลงมาแล้วไปกดไม่ให้ตาข้างของกิ่งผลิออกมาได้ ดังนั้น หากเราตัดส่วนปลายกิ่งลง ก็เท่ากับไปลดอิทธิพลดังกล่าวนี้ ตาข้างใต้รอยตัดก็สามารถเจริญออกมาได้ ซึ่งเท่ากับไปลด V ของกิ่งนั่นเอง (กิ่งด้านซ้ายกับขวาของภาพ) 3. การจัดการทรงพุ่ม (Canopy management) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สามารถรับแสงให้ได้ดีที่สุดที่ต้องอาศัยหลักการสำคัญของการจัดทรง (Training) และการตัดแต่ง (Pruning) เพื่อให้ใบทุกใบที่อยู่บนพุ่มต้นมีความสามารถในการสังเคราะห์แสงสูงที่สุด (คงไม่สามารถอธิบายรายละเอียดในที่นี้ได้) 4. ความหนาวเย็นหรืออุณหภูมิต่ำ (Low temperature;T) ความหนาวเย็นเป็นตัวกระตุ้นให้ต้นไม้เริ่มเกิดการลำเลียงอาหาร (CHO) ไปสะสมไว้ที่ส่วนของเปลือกราก ในขณะเดียวกัน T ต่ำจะทำให้อัตราการหายใจลดลง จึงเป็นการช่วยลดการใช้อาหาร ทำให้มีปริมาณ CHO เหลือเพิ่มมากขึ้น 5. การงดน้ำ เป็นการชักนำให้เกิดสภาวะเครียดน้ำ (Water stress induction) ตามที่ได้กล่าวไว้ในช่วงก่อนนี้ว่า ธาตุ N สามารถถูกรากดูดดึงเข้าไปได้อย่างง่ายดายเมื่อมีน้ำเป็นตัวช่วยละลาย เมื่อ N ขึ้นไปสู่ยอดลดลง CHO จึงไม่ได้ถูกนำไปใช้ ทำให้มีปริมาณสะสมเพิ่มมากขึ้น นอกจากการงดน้ำแล้ว การกำจัดวัชพืชและการทำให้ผิวดินสัมผัสกับแสงแดดและลมได้ดีขึ้น ก็เป็นการไปช่วงเร่งให้สู่สภาวะเครียดน้ำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 6. สภาพภูมิอากาศ ลมที่แห้งและความเร็วลม ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ แสงแดดจัด ร่วมกับการปฏิบัติในข้อ 5. ก็จะช่วยให้เข้าสู่สภาวะเครียดน้ำได้เร็วขึ้นด้วย 7. การลดการให้ปุ๋ย N ในช่วงก่อนการงดการให้น้ำ ปุ๋ยที่ให้ทางดินจะมีการแนะนำให้ลด N ลง เพราะธาตุ N มีผลต่อการเจริญด้าน V โดยตรง 8. การควั่นกิ่ง ในหลาย ๆ ชนิดของไม้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิ้นจี่ มักนิยมใช้วิธการควั่นเปลือกกิ่ง เพื่อไปตัดเส้นทางลำเลียงอาหารไม่ให้ส่งลงไปยังส่วนรากชั่วคราว ทำให้ส่วนปลายยอดมีปริมาณ CHO สะสมเพิ่มมากขึ้น เมื่อกิ่งมีการออกดอกแล้วส่วนเปลือกก็จะสามารถสร้างมาเชื่อมต่อกันได้ตามปกติ *บทความนี้มีเนื้อหาค่อนข้างยาวมาก ทำให้หลาย ๆ เรื่องไม่สามารถลงรายละเอียดได้มากนัก อย่างไรก็ตาม หากเรื่องใดมีความจำเป็นจริงแล้ว ก็จะมานำเสนอให้เป็นเฉพาะเรื่องต่อไปในอนาคต **ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก 108 คำถามกับคำถามร้อยแปด โดย รศ.ดร. รวี เสรฐภักดี คำถามที่ 8 ของชุดที่ I (I - 8/108) เรื่อง "ว่าด้วยเรื่องของ C/N ratio กับการออกดอกของไม้ผลยืนต้น (ตอนที่ 1-4)


คำถามแนะนำสำหรับคุณ

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู