ถาม-ตอบ
ระบบการปลูกพืช
ถามเมื่อ 19 มกราคม 2564
กำลังพัฒนาที่นาเป็นสวนผสม โดยยกคันขุดร่อง ที่ดินมีคลองชลประทานผ่านหน้าพื้นที่ และด้านหลังเป็นคลองผันน้ำออก อยากทำเกษตรอินทรีย์ แต่น้ำที่ได้รับมาเป็นปลายน้ำที่มีเกษตรกรเจ้าอื่นใช้สารเคมีมาก่อนแล้ว และรอบด้านเป็นนาและสวนที่ใช้สารเคมี เราจะแก้ไขอย่างไรกับสารเคมีที่มากับน้ำและผ่านร่องสวนเรา และเราก็จำเป็นต้องใช้น้ำนี้ค่ะ

การป้องกันมลพิษ การปนเปื้อน และการปะปนในระดับฟาร์ม เกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์จะต้องมีมาตรการในการป้องกันมิให้ดินและผลผลิตเกษตรอินทรีย์ปนเปื้อนจากมลพิษ และสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งรวมถึงโลหะหนัก และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน รวมทั้งมีมาตรการในการลดการปนเปื้อน โดยที่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แต่ละแห่งจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการแนวกันชน (Buffer zone) ที่แตกต่างกัน โดยอาจมีการกำหนดทั้งระยะห่างระหว่างแปลงเกษตรอินทรีย์กับแปลงเกษตรเคมี หรือการปลูกพืช หรือการจัดทำสิ่งปลูกสร้างที่เป็นแนวป้องกันการปนเปื้อน ในพื้นที่แนวกันชนที่แตกต่างกันได้ โดยทั่วไปจะมีการกำหนดเกณฑ์แนวกันชนขั้นต่ำไว้ในมาตรฐาน ซึ่งหน่วยงานรับรองอาจจะพิจารณาให้เกษตรกรต้องมีการจัดการแนวกันชนเพิ่มเติมจากข้อกำหนดขั้นต่ำ โดยการพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงของฟาร์มแต่ละแห่ง หลักการผลิตพืชอินทรีย์ 1. พื้นที่ที่จะทำการเกษตรนั้นต้องไม่เคยทำการเกษตรเคมีมาไม่น้อยกว่า 3 ปี 2. พื้นที่ควรมีลักษณะค่อนข้างดอนและโล่งแจ้ง 3. พื้นที่ต้องอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม 4. พื้นที่ควรอยู่ห่างจากแปลงที่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี 5. พื้นที่ห่างจากถนนหลวงหลัก 6. พื้นที่มีแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษ จะเห็นว่าจากเงื่อนไข ข้อ 6. พื้นที่มีแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษ และ 4. พื้นที่ควรอยู่ห่างจากแปลงที่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี ซึ่งอาจจะต้องปรับสภาพให้มีความเหมาะสมกับระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ควรเริ่มจากการมีแผนการปรับเปลี่ยนที่ชัดเจน โดยแผนการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐาน โดยอาจจะปรับเปลี่ยนฟาร์มทั้งหมดเข้าสู่เกษตรอินทรีย์พร้อมกัน หรือค่อยๆ ปรับเปลี่ยนบางส่วนของฟาร์มเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ก็ได้ แต่ทั้งนี้ แผนการปรับเปลี่ยนจะต้องระบุถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนฟาร์มทั้งหมดเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการจัดแยกระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์และไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ออกจากกัน ซึ่งในแต่ละมาตรฐานอาจกำหนดระยะเวลาของการปรับเปลี่ยนแตกต่างกันไป ซึ่งในช่วงระยะปรับเปลี่ยนนี้อาจใช้เวลา 12 – 36 เดือนขึ้นอยู่กับมาตรฐาน โดยระบบมาตรฐานที่ให้บริการรับรองการเพาะปลูกพืชในปัจจุบัน ได้แก่ - IFOAM Program (IFOAM-Accredited) - EU Program (EU organic regulations) - U.S.-Canada Program (COR and NOP-equivalent) ทั้งนี้สามารถศึกษามาตรฐานและข้อกำหนดได้จากข้อมูลเพิ่มเติม : มาตรฐานเกษตรอินทรีย์และข้อกำหนด และสามารถรับคำปรึกษาและติดต่อได้ที่ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ บริษัท เอซีทีออร์แกนิค เลขที่ 2 ซอยงามวงศ์วาน 23 แยก 2/5 ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร. 0 2952 6677, 0 2580 0934 และ 086 892 3162 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. E-mail: info@actorganic-cert.or.th


คำถามแนะนำสำหรับคุณ

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู