ถาม-ตอบ
โรคพืช
ถามเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2563
โรคแบบนี้เกิดจากอะไรครับ วิธีการแก้ไขอย่างไรบ้างครับ ต้นมะเขือเปราะ

ได้ส่งภาพไปทางคลินิกสุขภาพพืช กพส. แจ้งว่า เป็นอาการประจำของมะเขือเปราะ ถ้าไม่ต้องการใช้สารเคมี ก็ให้ตัดแต่งออกได้ค่ะ และถ้าต้องการใช้สารเคมีจะใช้สารกลุ่มอะซอคซีสโตบิน พ่นตามอัตราแนะนำได้เช่นกัน และได้ลองสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น อาการเท่าที่สังเกตจากภาพใบที่ส่งมา อาการคล้ายโรคเหี่ยว (Verticillium wilt) ที่เกิดจากเชื้อรา Verticillium Verticillium spp. เป็นราที่พบในดินเกือบทุกชนิด และทุกแห่ง โดยเฉพาะประเทศในเขตอบอุ่นและเขตร้อนของโลก ก่อให้เกิดโรคกับพืชต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางเกือบ 200 ชนิด ทั้งพืชไร่ พืชสวน ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักและวัชพืชต่าง ๆ เฉพาะผักที่ถูกเชื้อนี้เข้าทำลายและก่อให้เกิดความเสียหาย ได้แก่ แตงต่างๆ เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม กระเจี๊ยบ มะเขือยาว มะเขือเปราะ พริก มะเขือเทศ มันฝรั่ง ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผักต่าง ๆ อีกหลายชนิดที่เชื้อราตัวนี้เข้าทำลาย แต่ไม่ทำความเสียหายมากเท่ากับผักพวกที่กล่าวแล้ว ได้แก่ พวกถั่วต่าง ๆ หน่อไม้ฝรั่ง (asparagus) กะหล่ำต่าง ๆ บรอคโคลี ขึ้นฉ่าย (celery) หอมหัวใหญ่ กระเทียม ผักสลัด ผักกาดหัว แต่ธัญพืช เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ไม่ปรากฏว่าราพวก Verticillium ทำความเสียหายแต่อย่างใด อาการ : แม้พืชได้รับเชื้อตั้งแต่ระยะต้นอ่อน แต่จะแสดงอาการให้เห็นจนกว่าต้นโตขึ้นมาถึงระยะหนึ่งจึงเริ่มแสดงอาการแคระแกร็น (stunt) หยุดการเจริญเติบโต ต่อมาต้นใบจะเหลืองซีดและเหี่ยว ใบแก่ตอนล่าง ๆ ของต้นจะหลุบลงในที่สุด ใบจะหลุดร่วงออกจากต้น อาการจะค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้นไปยังส่วนบน ในที่สุดจะเหลืองและเหี่ยวตายทั้งต้น ในระยะนี้หากถอนต้นพืชขึ้นจากดินแล้วใช้มีดผ่ารากและลำต้นบริเวณโคนออกมาจะพบว่าส่วนของท่อน้ำท่ออาหาร (vascular bundle) ถูกทำลายเน่า เป็นสีน้ำตาลเข้ม ในรายที่เป็นรุนแรงอาการเน่าจะลามออกมาเห็นที่ผิวนอกของรากและโคนต้นด้วย พบว่ามะเขือมอญหรือกระเจี๊ยบ มะเขือลูกใหญ่ เช่น มะเขือยาว มะเขือม่วง จะเป็นโรคนี้ได้ง่าย และรุนแรงที่สุด ส่วนมะเขือเทศ มันฝรั่งนั้นค่อนข้างจะต้านทานโรคได้ดีกว่า เมื่อถูกเชื้อเข้าทำลายอาจไม่ถึงกับตายเพียงแต่แสดงอาการเหลืองและเฉาในใบแก่ที่อยู่ตอนล่าง ๆ ของต้น การป้องกันกำจัด 1. หลีกเลี่ยงการปลูกผักที่ง่ายต่อการเป็นโรคลงในดินที่เคยมีโรคเกิดมาก่อน หรือเปลี่ยนพืชชนิดอื่นที่มีความต้านทานต่อโรคมาปลูกแทน 2. ขจัดทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคโดยการถอนขึ้นมาทั้งต้นและราก แล้วนำไปเผาไฟหรือฝังดินลึกๆ ไม่ปล่อยให้มีวัชพืชหรือพืชอาศัยหลงเหลืออยู่ตามบริเวณแปลงปลูก 3. การระบายน้ำในแปลงปลูกควรให้เป็นไปโดยสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้น้ำแฉะหรือขังอยู่ในแปลงนานๆ 4. ปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์โดยการเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจน และปรับสภาพของดินให้ค่อนไปทางกรด โดยการเติมสารที่ชักนำให้เกิดกรด (acid producing agent) เช่น กำมะถัน ลงในดินก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ (ปกติจะใช้กำมะถันประมาณ 100 – 200 กก. ต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของดินและพืชที่จะปลูก) การเพาะกล้าควรทำในดินใหม่ที่สะอาดปราศจากเชื้อ และมีการเตรียมอย่างดีถ้าจำเป็นต้องใช้ดินเก่าก็ควรฆ่าทำลายเชื้อเสียก่อนโดยคั่วหรืออบด้วยความร้อน ไอนํ้าหรือสารเคมี เช่น เทอราคลอ ฟอร์มาลีน และวาแปม ฯลฯ สำหรับการใช้สารเคมีฆ่าเชื้อราในการฆ่าทำลายหรือรักษาโรคนี้โดยตรงในดินหรือกับพืชที่เป็นโรคนี้ ยังไม่ปรากฏว่าจะมีสารเคมีชนิดใดใช้ได้ผลคุ้มค่า


คำถามแนะนำสำหรับคุณ

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู