ถาม-ตอบ
การเกษตรทั่วไป
ถามเมื่อ 17 มกราคม 2563
ขอข้อมูลพื้นฐานของปอเทือง เช่น ประโยชน์ แหล่งปลูก แหล่งรับเมล็ดด้วยค่ะ เนื่องจากจะใช้ปลูกภายในสถาบันการศึกษา จึงจะขอข้อมูลเพื่อประกอบการปลูก และนำเสนอผู้บริหารค่ะ

ตอบคำถาม คุณ po_poun การใช้ประโยชน์ : ปอเทืองเป็นพืชตระกูลถั่วที่ให้น้ำหนักสดต่อไร่ 2 -5 ตัน/ไร่ เมื่อไถกลบจะปลดปล่อยธาตุอาหาร โดยเฉพาะไนโตรเจนในปริมาณสูง นิยมปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้กับดิน โดยเฉพาะ ในการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ดอน โดยปลูกในรูปแบบของพืชหมุนเวียน โดยหว่านหรือโรยเมล็ดก่อนการปลูกหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย หรืออาจปลูกในรูปแบบของพืชแซม โดยปลูกระหว่างแถวพืชหลัก เช่น ระหว่างแถว อ้อย มันสำปะหลัง แล้วไถ/สับกลบเมื่อปอเทืองอายุประมาณ 50 – 60 วัน ในขณะที่ดินยังมีความชื้นแล้วทิ้งไว้ 7 – 10 วัน ปลูกหลังจากพืชหลัก ประโยชน์ปอเทือง 1. ใช้ปลูกเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด เนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีไนโตรเจนสูง รวมถึงสารอาหารอื่นด้วย 2. ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันหน้าดินพังทลาย 3. ใช้ปลูกเป็นพืชอาหารสำหรับเลี้ยงโค กระบือ รวมถึงดอก และใบที่นำมาเลี้ยงหมูได้เช่นกัน 4. ใช้ปลูกเพื่อนำดอกมารับประทาน ทั้งรับประทานสด หรือลวกจิ้มน้ำพริก รวมถึงใช้ประกอบอาหารหลายเมนู อาทิ แกงอ่อม แกงเลียง ต้มยำ เป็นต้น 5. ลำต้นใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ 6. เปลือกลำต้นสามารถดึงลอกเป็นเส้นได้ และจัดเป็นเส้นใยที่มีความเหนียวสูง สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชือก ด้าย และอวน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ เมล็ดปอเทือง * โปรตีน 30-35% * ไขมัน 12.6% – linolenic acid 4.6% – linoleic acid 46.8% – oleic acid 28.3% – saturated acids 20.3% * ความชื้น 8.6% * แป้ง 41.1% * เยื่อใย 8.1% * เถ้า 3.3% ลำต้น และใบ * โปรตีน 14.2% * เยื่อใยหยาบ 33.3% * คาร์โบเดรท 38.6% * ไขมัน 2.5% * เถ้า 8.0% * แคลเซียม 0.73-2.08% * ฟอสฟอรัส 0.19-0.51% คุณค่าทางโภชนาการอาหารสัตว์ของปอเทืองที่อายุต่าง ๆ ด้วยการตัดสูง 30 เซนติเมตรจากพื้นดิน (100 กรัม) องค์ประกอบทางเคมี อายุ 30 วัน อายุ 40 วัน อายุ 50 วัน (ตามไฟล์แนบ : คุณค่าทางโภชนาการอาหารสัตว์ของปอเทือง) ***อ้างอิงข้อมูลจาก https://puechkaset.com/%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/ ทั้งนี้ การเตรียมดินและการปลูกปอเทือง มี 2 วิธี คือ 1) ปลูกโดยไม่ต้องเตรียมดิน ซึ่งทำโดยก่อนการเก็บเกี่ยวข้าว ใช้เมล็ดพันธุ์ปอเทืองหว่าน 1–2 วัน จึงใช้รถเก็บเกี่ยวข้าว วิธีนี้จะสูญเสียเมล็ดพันธุ์มากจากการกลบของฟางข้าว หรือหลังการเก็บเกี่ยวข้าวใช้เมล็ดปอเทืองหว่านตามร่องรถเกี่ยวข้าวแล้วกระจายฟางข้าวให้ทั่วแปลง หรือจะเก็บฟางข้าวไว้เลี้ยงสัตว์ก็ได้ วิธีนี้จะได้ใช้พื้นที่มากขึ้น 2) การปลูกโดยการเตรียมดินทำได้โดยใช้รถไถขณะดินมีความชื้นอยู่ แล้วหว่านเมล็ดปอเทือง จะคราดกลบหรือไม่ก็ได้ ถ้าคราดกลบจะงอกได้สม่ำเสมอและเจริญเติบโตดี หรือ ปลูกโรยเป็นแถว ระหว่างแถว 80 – 100 ซม. หรือปลูกเป็นหลุม ใช้ระยะปลูก 50x100 หลุม ๆ ละ 1–3 ต้น อัตราเมล็ดที่ใช้ปลูก : การปลูกแบบหว่านเพื่อไถกลบใช้เมล็ดประมาณ 3–5 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกเป็นหลุมใช้เมล็ด 2 – 4 กิโลกรัมต่อไร่ การดูแลรักษา : หลังการหว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทืองแล้วประมาณ 3–5 วัน จะงอกโดยอาศัยความชื้นที่มีอยู่ในดิน ไม่ต้องให้น้ำ วัชพืชจะทำการถอนเพื่อจัดระยะปลูกเมื่ออายุ 2 – 3 สัปดาห์ ต้องพรวนดินกลบโค่นและกำจัดวัชพืช ใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 20–30 กิโลกรัมต่อไร่ พ่นยากำจัดเชื้อรา และแมลงศัตรูพืชเมื่ออายุ 50–60 วัน ดอกเริ่มบานจากข้างล่างก่อน หลังดอกร่วงโรยจะติดฝักจากข้างล่างก่อนเช่นเดียวกัน ฝักจะแก่เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 120–130 วัน การเก็บเกี่ยวผลผลิต: มี 2 วิธี คือ ใช้รถเกี่ยวข้าวเก็บเกี่ยว แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากไม่คุ้มกับการลงทุนเพราะลำต้นของมันมีความแข็งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องจักรได้ และสำหรับเกษตรกรจะได้ผลผลิตค่อนข้างต่ำจึงไม่คุ้มต่อการลงทุน และอีกวิธีคือการใช้เคียวเกี่ยวผึ่งแดดไว้ 3–4 แดด นำมาใส่กระสอบแล้วทุบให้ฝักแตก หรือนำมากองบนผ้าใบ บนตาข่าย บนลานแล้วใช้รถย่ำในบริเวณแปลงนาได้เลย ผลผลิตเฉลี่ย 80-120 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 20 – 25 บาทต่อกิโลกรัม หรือศึกษาได้จากโบรชัวร์การปลูกปอเทืองเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ (ในส่วนของข้อมูลเพิ่มเติม) โดยสามารถติดต่อขอรับเมล็ดพันธุ์ปอเทือง ได้ที่ กรมพัฒนาที่ดิน สํานักงานพัฒนาที่ดินเขต หรือสถานีพัฒนาที่ดินใกล้บ้าน โดยใช้แบบฟอร์ม http://www.ldd.go.th/www/files/75567.pdf ส่วนของแหล่งปลูก เป็นข้อมูลพื้นที่ปลูกปอเทือง ฤดูกาลปี 2561/62 ของกรมส่งเสริมการเกษตรค่ะ (คลิกอ่านได้จากไฟล์แนบ : ข้อมูล พท.ปลูกปอเทือง)


คำถามแนะนำสำหรับคุณ

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู