ถาม-ตอบ
อารักขาพืช
ถามเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2562
ขอสอบถามเรื่องวิธีป้องกันรักษาโรคคตายพรายในกล้วย ขอวิธีที่ไม่ใช้เคมีค่ะ (พอดีว่าขอ GAP ไป เลยไม่ได้ใช้สารเคมีเลยค่ะ) ที่สวนปลูกแบบผสมผสาน อยู่ที่ จ.ลพบุรี ปลูกรวมกันทั้ง กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง และกล้วยหินค่ะ ได้ลองโรยขี้เถ้า ตัดใบเหลือง ๆ ออก แต่ก็ยังไม่หายค่ะ จะตัดไปเผาทำลาย ช่วงนี้เขาก็รณรงค์ห้ามเผา ตอนนี้มีอาการแทบทุกต้น ให้น้ำโดยการรดด้วยน้ำประปาหมู่บ้าน เพราะปีนี้แล้งยาวนานจึงใช้น้ำประปารดมาเป็นปีแล้วค่ะ

ตอบคุณ . Kanungnid โรคตายพรายของกล้วย มีลักษณะอาการดังนี้ เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรียม เป็นโรคเหี่ยวที่เกิดชัดเจนในระบบท่อลำเลียงพืช เชื้อราสาเหตุรุกล้ำเข้าสู่เนื้อเยื่อท่อลำเลียงผ่านทางราก ทำให้เนื้อเยื่อท่อลำเลียงเน่าเป็นสีน้ำตาล และต้นแสดงอาการเหี่ยว จนในที่สุดพืชก็ตาย พัฒนาการของอาการโรคภายในลำต้นมีผลต่อการลักษณะอาการโรคภายนอกที่ปรากฏให้เห็น อย่างไรก็ตาม ***อาการโรคไม่ได้เกิดกับผลของกล้วยแต่อย่างใด*** ลักษณะอาการภายในที่เกิดจากโรคเหี่ยวฟิวซาเรียม คือ ท่อลำเลียงเน่าเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเกิดเริ่มจากอาการเหลืองซีดในระยะเริ่มต้น ในระยะหลังอาการเน่าเป็นสีแดงเข้ม หรือเกือบดำ อาการโรคภายในของกล้วยพัฒนาครั้งแรกจากรากหาอาหาร (Feeder roots) ซึ่งเป็นตำแหน่งเริ่มต้นที่เชื้อเข้าทำลาย เชื้อราแพร่กระจายไปสู่เหง้า Rhizome จนขึ้นไปสู่ลำต้นเทียม (Pseudostem) ลักษณะอาการภายนอก เริ่มแสดงอาการครั้งแรกคือใบเหี่ยว และใบเหลืองจากใบด้านนอกที่อายุมากของลำต้นเทียม ใบกล้วยที่เหลืองอาจยังคงตั้งตรง หรือหักพับตรงก้านใบ บางครั้งใบกล้วยอาจยังคงมีสีเขียว แต่มีจุดบนก้านใบ และในที่สุดก้านใบก็หักพับ ใบกล้วยจะหักพับลงรอบ ๆ ลำต้นเทียม ดูคล้ายเป็นกระโปรง (Skirt) จากนั้นใบจะทั้งหมดจะหักพับลง และเหี่ยวแห้งในที่สุด การแตกที่โคนลำต้นเทียม เป็นอีกอาการหนึ่งที่พบได้เสมอ อาการอื่นที่อาจพบคือ ขอบใบที่แตกใหม่มีรูปร่างผิดปกติ สีซีด และผืนใบหดหงิก ผิดรูปร่าง หน่อกล้วยที่ติดเชื้อแล้วอาจยังไม่แสดงอาการของโรคเหี่ยวฟิวซาเรียม จนกว่าต้นกล้วยมีอายุ 4 เดือน สถานการณ์เช่นนี้เป็นลักษณะที่โรคกระจายไปทั่วทั้งหน่อกล้วยหรือต้นกล้วยแล้ว ส่วนผลของกล้วยจะไม่มีอาการผิดปกติใดแสดงออกมา วิธีการกระจายของเชื้อโรค เชื้อราสาเหตุโรคแพร่กระจายได้ง่ายโดยทางหน่อที่นำไปปลูกใหม่ ดินที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อราสาเหตุโรค และทางน้ำ แนวทางการป้องกันกำจัด 1. คัดเลือกหน่อกล้วยที่ไม่ได้มาจากต้นที่เป็นโรคหรือพื้นที่ที่เป็นโรคไปปลูก หรือการใช้ต้นอ่อนกล้วยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปลูก จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคที่จะติดมากับส่วนขยายพันธุ์ได้ 2. ใช้มาตรการตรวจสอบกักกัน และมาตรการกีดกันต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันเชื้อสาเหตุโรคจากนอกพื้นที่เข้ามายังพื้นที่ปลูก ***ทั้งนี้โรคเหี่ยวฟิวซาเรียมไม่สามารถป้องกันกำจัดเชื้อราสาเหตุโรคโดยการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราได้ (Fungicides) และไม่สามารถกำจัดเชื้อราในดินให้หมดไป 100% โดยใช้สารรมฆ่าเชื้อได้ 3. ขุดต้นเป็นโรคออกมาผึ่งให้แห้งแล้วเผาทำลาย 4. การใช้หรือคัดพันธุ์กล้วยต้านทานโรค การจัดการควบคุมการเกิดโรคด้วยสารชีวภัณฑ์ การกำจัดโรคตายพรายเป็นเรื่องยากที่สุด เพราะเชื้อราฟิวซาเรียมสามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นานหลายปี และที่สำคัญไม่มีสารเคมีกำจัดเชื้อราฟิวซาเรี่ยมที่ได้ผล การบริหารจัดการด้านการปลูก พอช่วยได้บ้าง คือ ระวังอย่าใช้หน่อปลูกจากต้นแม่ที่เคยมีอาการโรคตายพราย แม้ว่าหน่อที่แตกออกมาใหม่นั้นจะดูสมบรูณ์ ก็ตาม เพราะเชื้อราฟิวซาเรี่ยมสามารถเข้าไปอยู่ในต้นพืชได้โดยมีช่วงที่ไม่แสดงอาการโรค ควรหาหน่อปลูกจากแหล่งที่ไว้ใจ จากพื้นที่ที่ไม่มีการเป็นโรคตายพราย หลังจากที่ปลูกหน่อกล้วยแล้ว ต้องหมั่นสำรวจดูหน่อกล้วยว่าเริ่มพบอาการดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ ถ้าเป็นพื้นที่ทีเคยพบเกิดโรคตายพรายมาก่อนหน้าแล้ว ก็มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดโรคซ้ำอีก การใช้สารชีวภัณฑ์ (Biofungicide) กำลังเป็นที่สนใจมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะกับการใช้ป้องกำจัดโรคที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อฟิวซาเรี่ยม สารชีวภัณฑ์ บาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis based-fungicide) เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีอยู่ทั่วไปในทุกที่ มีคุณสมบัติเป็นปฏิปักษ์กับเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆที่เป็นศัตรูพืชได้ ดังนั้น ในทางวิชาการจึงได้มีนำเอาแบคทีเรียชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ในการป้องกำจัดโรคพืชทางการเกษตร จนปัจจุบัน ได้มีงานวิจัยและพัฒนาที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้สามารถคัดเลือกสายพันธุ์ของบาซิลลัส ซับทิลิส ที่มีความสามรถพิเศษเฉพาะในการกำจัดโรคหลายชนิด จนสามารถนำไปจดสิทธิบัตร และผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ได้ในเชิงอุตสาหกรรม เหมือนกับสารเคมีสังเคราะห์


คำถามแนะนำสำหรับคุณ

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู