ถาม-ตอบ
ถามเมื่อ 14 มกราคม 2562
สวัสดีครับ พอมีข้อมูลของ PSB (Photosynthetic Bacteria) หรือจุลินทรีย์ในกลุ่มสังเคราะห์แสงที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชผักและพืชไร่ไหมครับ

จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง (Photosybthetic Bacteria; PSB) เป็นแบคทีเรียที่พบกระจายทั่วไปในธรรมชาติ บทบาทของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงมีความสำคัญในกระบวนการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ (CO2 - Assimilation) และการตรึงไนไตรเจน (Nitrogen Fixation) และยังมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งสัตว์ขนาดเล็กจำพวก ปลา กุ้ง หอย และปู สามารถนำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงมาใช้เป็นอาหารได้ นอกจากนี้สามารถใช้ในการบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนและน้ำเสียจากการทำปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จะเห็นว่าเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มาก จึงถูกนำมาใช้ในทางการเกษตรด้วย สำหรับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่นำมาใช้ในการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงสีม่วงกลุ่มไม่สะสมกำมะถัน แบคทีเรียชนิดนี้เมื่ออยู่ในสภาวะที่มีแสงก็จะเกิดกระบวนการที่ใช้แสง ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่มีแสงก็เปลี่ยนมาใช้อีกกระบวนการที่ไม่ใช้แสงทำให้มีชีวิตอยู่ได้ ฉะนั้นจึงสามารถใช้ประโยชน์จากการกระบวนการดำรงชีวิตนี้มาใช้ในการบำบัดของเสีย และการบำบัดดิน ส่วนการใช้ประโยชน์ ในประเทศญี่ปุ่นใช้เพิ่มผลผลิตข้าวได้ถึง 3 เท่า และทำให้เมล็ดข้าวใหญ่ขึ้น 2 เท่า ทั้งนี้แบคทีเรียยังช่วยปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการดูดซึมสารอาหาร เพราะในระยะข้าวตั้งท้องดินบริเวณรากข้าวจะมีสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน ทำให้แบคทีเรียในกลุ่มแอนแอโรบิคแบคทีเรียเจริญได้ดี จึงสร้างก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ไปยับยั้งกระบวนการสร้างเมตาโบลิซึมของรากข้าว ซึ่งเป็นพิษต่อราก แต่เมื่อนำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงใส่ลงในดินในระยะเวลาดังกล่าว จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจะเปลี่ยนไฮโดรเจนซัลไฟด์ให้อยู่ในรูปของสารประกอบซัลเฟอร์ที่ไม่เป็นพิษต่อรากข้าว จึงส่งผลให้รากข้าวเจริญงอกงามมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ต้นข้าวก็แข็งแรงขึ้น ผลผลิตข้าวก็จะมากขึ้นตามไปด้วย จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงยังใช้เป็นอาหารเสริมให้แก่สัตว์ เนื่องจากแบคทีเรียมีโปรตีนที่จำเป็นต่อสัตว์ อีกทั้งแบคทีเรียบางสายพันธุ์ยังผลิตสารแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งมีสีแดงออกส้ม เมื่อผสมอาหารให้ไก่กินจะช่วยเพิ่มสีให้ไข่แดงของไก่ สารดังกล่าวได้จากธรรมชาติจึงมีความปลอดภัยกว่าสารสังเคราะห์ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงสีม่วง (Purple Photosynthetic Bacteria) ที่น่าสนใจมี 5 สายพันธุ์ คือ SS3, SS4, FS3, SH5, และ ES16 แต่ในจำนวน 5 สายพันธุ์นี้ SS3 (Rhodobacter capsulatus) มีการเจริญเติบโตดีที่สุด และสามารถผลิตสารเร่งความเจริญเติบโตของพืชได้สูงถึง 2 มิลลิโมลาร์ต่อลิตรหรือมากกว่า สายพันธุ์ SS3 ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในประเทศไทยมาจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อประเทศญี่ปุ่นประกาศใช้จุลินทรีย์ SS3 เป็นวาระแห่งชาติในปี 2010 โดยมุ่งเน้นใน 3 แนวทาง คือ ด้านเกษตร ปศุสัตว์ และสิ่งแวดล้อม เมื่อมีผู้นำจุลินทรีย์ SS3 จากญี่ปุ่นเข้ามาในเมืองไทย ก็ได้มีการเพาะขยายพันธุ์กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย และถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง หน้าที่หลักของ PSB 1. เป็นแหล่งรวมแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์ เช่น กรดอะมิโน ,กรดนิวเคลียริค, สารประกอบและโพลีแซคคาไรด์ 2. ทำให้พืชโตเร็วขึ้น โดยใช้กระบวนการเพิ่มแร่ธาตุในดิน เช่น ไมคอริซ่า (Mycorrhiza), อาโซโตแบคเตอร์ (Azotobacter) 3. เป็นตัวทำกระบวนการรีไซเคิลให้กับ คาร์บอน , ไนโตรเจน , และสารประกอบจำพวกซัลเฟอร์ 4. เพิ่มผลผลิตให้แก่พืช 5. ป้องกันมลพิษทางอากาศ และช่วยกำจัดแร่ธาตุเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม 6. ช่วยลดแก๊สกลิ่นเหม็นจากมูลสัตว์ในคอกเลี้ยง 7. ช่วยกำจัดของเสียและพิษ เช่น ไฮโดรเจนซันไฟด์, เมอร์แคปตัน, คลอไรด์ และไดอะมายด์ การใช้ประโยชน์ในแวดวงการเกษตร ใช้ในนาข้าว, พืชไร่, ไม้ผล, ไม้ประดับ, ปศุสัตว์ ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยหลัก ในกรณีใช้ต่อเนื่องยังช่วยลดก๊าชไข่เน่าในดิน ช่วยให้รากพืชขยายและดูดซึมปุ๋ยได้ดีขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนาข้าว ส่วนในพืชชนิดอื่นๆ ก็เช่นกัน ช่วยให้รากพืชแข็งแรงสามารถดูดซึมสารอาหารได้มากขึ้น นอกจากนี้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงยังมีโปรตีนสูง มีวิตามินและแร่ธาตุมากมาย เช่น ไมคอริซ่า, อาโซโตแบคเตอร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่พืชอย่างมาก พืชจึงมีความแข็งแรง ต้านทานโรคและแมลงต่างๆ ได้ดี วิธีขยายเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะแสงใช้เอง 1. กรอกน้ำ เกือบเต็มขวดน้ำดื่มขนาด 1.5 ลิตร เหลือพื้นที่ไว้สัก 4-5 นิ้วจากปากขวด 2. ตอกไข่ใส่ภาชนะ (เปลือกไข่ไม่ต้องทิ้ง ตำหรือบดเปลือกไข่ให้ละเอียดแล้วผสมลงไป) ใส่ผงชูรส อัตราส่วน ไข่ 1 ฟอง ต่อผงชูรส 1 ช้อนชา 4. ตักใข่ที่ผสมแล้วใส่ลงไปในขวดน้ำที่เตรียมไว้ในข้อ 1 ขวดละ 1 ช้อนโต๊ะ เขย่าส่วนผสมให้เข้ากับน้ำ แล้วเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะแสงลงไปขวดละ 100 มิลลิลิตร ปิดฝาขวดให้แน่น 5. นำขวดไปวางเรียงกันในที่ที่มีแสงส่องทั้งวัน หรือใช้ภาชนะใหญ่ใส่น้ำก่อนจะวางเรียงขวด เพราะว่าเชื้ออาจจะตาย เพราะความร้อนที่มากเกินไป 6. เขย่าขวดบ้าง หากมีแก๊สในขวดมากก็เปิดฝาระบายออกได้ รอจนกว่าจะเป็นสีแดงเข้มทั้งขวด จึงจะนำไปใช้ได้ การนำไปใช้ : นาข้าว ใช้ 1 ลิตรต่อไร่ สาดให้ทั่วไร่, สวน ใช้ 50 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นลงดินขณะเตรียมปลูก หรือพ่นทางลำต้นและราก ทุกๆ 7-10 วัน, แปลงผักและดอกไม้ ใช้ 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นลำต้นและราก ทุกๆ 5-7 วัน และยังสามารถช่วยเร่งให้พืช เช่น มะนาว มะเขือเทศ ส้ม มะม่วง มังคุด เป็นต้น ออกดอกได้อีกด้วย


คำถามแนะนำสำหรับคุณ

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู