ถาม-ตอบ
การผลิตพืช
ถามเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2560
การปลูกมะขามหวานแบบอินทรีย์ มีที่ 500 ไร่ จ.เพชรบูรณ์ อยากทราบการปลูก การดูแล ปุ๋ย แมลง เชื้อราการให้น้ำ อินทรย์ต่างกับเคมีอย่างไรบ้าง จุดวิกฤตที่สำคัญของการดูแลมีอะไรบ้าง มีตัวอย่างไร่ในเพชรบูรณ์หรือจังหวัดอื่นที่ประสบความสำเร็จมีไหม ขอรายละเอียดติดต่อ การใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนดินอย่างเดียวเพียงพอกับมะขามไหม รายละเอียดในการทำสาวเป็นอย่างไร ต้นมะขามพันธุ์เบาสีชมพู ขันดี หมื่นจง พันธุ์หนัก อย่างสีทอง อายุ 30 ปี ไม่ทำสาวดูแลดีควรให้ผลต่อไร่เท่าไหร่ ทำสาวให้ผลต่อไร่เท่าไหร่ ปัจจุบันมีเครื่องเก็บฝักผลมะขามหวานหรือยังถ้ามีขอรายละเอียด โรงงานแปรูปพร้อมเครืองแกะเปลือกแยกเมล็ดราคาเป็นอย่างไรขอรายละเอียด

การปลูก การดูแล ปุ๋ย แมลง เชื้อราการให้น้ำ อินทรย์ต่างกับเคมีอย่างไรบ้าง ปัจจุบันยังไม่มีใครทำเกษตรอินทรีย์จริงๆ บางท่านใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ก็เรียกอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช่ ถ้าทำเกษตรอินทรีย์จริงพื้นที่ที่ปลูกต้องไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีมาก่อน สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชต้องไม่ใช้เลย ต้องมีการสร้างกำบังให้พืชป้องกันสารเคมีจาแปลงข้างๆ ในการทำอินทรีย์ต้องมีผู้มาตรวจว่าได้มาตรฐานหรือไม่ มะขามอินทรีย์น่าจะทำมะขามหวานปลอดภัยมากกว่าคือปลอดภัยกับผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม ผู้ทำปลอดภัย จุดวิกฤตที่สำคัญของมะขามหวานคือ น้ำ เมื่อออกฝักต้องได้น้ำสม่ำเสมอ ถ้าปล่อยให้ขาดน้ำ แล้วมีฝนตก จะทำให้ฝักแตก สามารถเสริมด้วยแคลเซียมทำให้เซลล์แข็งแรงขึ้น รองลงมาคือปุ๋ย มะขามหวานจะให้ดอกพร้อมแตกใบ เมื่อตัดแต่งกิ่งให้ใส่ปุ๋ย 12-24-12 หรือ 8-24-24 เพื่อให้ออกดอกพร้อมแตกใบอ่อน เมื่อติดฝักให้ใส่ปุ๋ย 20-10-10 หรือ 30-10-10 เร่งใบให้สมบูรณ์เพื่อสร้างอาหารเลี้ยงฝักแล้วใส่ปุ๋ย 13-13-21 หรือปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูงเพื่อสร้างความหวาน มะขามปลายปีมีอากาศหนาวกลางคืนร้อนกลางวัน โรคที่สำคัญคือโรคราแป้งขาว ใบจะมีแต้มสีขาวเหมือนโรยแป้ง และใบร่วง การป้องกันกำจัดเชื้อราจากธรรมชาติไม่มีในปัจจุบัน จึงยังต้องใช้สารเคมีอยู่ และที่สำคัญมากคือช่วงมะขามติดฝัก ถ้าไม่ฉีดสารป้องกันกำจัดเชื้อราจะมีเชื้อราติดไปกับฝัก และถ้าเก็บรักษาไม่ดีจะมีราสีขาวขึ้นในฝัก พบแมลงศัตรูหลายชนิด เช่น หนอนเจาะฝัก จุดวิกฤตที่สำคัญของมะขามหวานอีกเรื่องคือ กระบวนการก่อนการเก็บเกี่ยวที่ไม่ให้มีแมลงกับเชื้อราติดมากับฝัก การเก็บเกี่ยวต้องใช้แรงงานคนเก็บ และต้องเข้าห้องเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิ ต้องมีกระบวนการแปรรูปเป็นมะขามหวานรูปแบบต่างๆ มีตัวอย่างไร่ที่ประสบความสำเร็จ โดยอยู่ก่อนถึงจ.เพชรบูรณ์ซ้ายมือมีร้านขายผลิตภัณฑ์จากมะขามร้านใหญ่มาก หลังร้านเป็นห้องเย็น สามารถเข้าไปดูได้ การใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนดินอย่างเดียวไม่เพียงพอกับมะขาม ตามจริงก็คือปุ๋ยหมักธรรมดา โดยเอาเศษซากพืชให้ไส้เดือนย่อยสลาย ซึ่งคือปุ๋ยหมัก ถ้าพืชอื่นพอเพียง ถ้ามะขามหวานปุ๋ยมูลไส้เดือนดินอย่างเดียวไม่เพียงพอ การทำสาวเป็นการตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยวผลลผิต เพื่อแตกกิ่งใหม่ ใบใหม่ หลักการตัดแต่งกิ่งโดยเอากิ่งที่เป็นโรคมีแมลงรบกวนตัดออก กิ่งตาย ทรงพุ่มทึบ ตัดแต่งให้โปร่ง ทำให้ไม่มีโรคและแมลงศัตรูพืชสะสม หลังตัดแต่งให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์คู่กับปุ๋ยเคมี ซึ่งจะทำให้ดินร่วนซุยดี รากหาอาหารได้สะดวก เสริมด้วยธาตุอาหารรอง จะทำให้มะขามได้รับธาตุอาหารครบถ้วน ฉีดโบรอนเพื่อการผสมติดที่ดี ต้นมะขามพันธุ์เบาสีชมพู ขันดี หมื่นจง พันธุ์หนัก อย่างสีทอง อายุ 30 ปี ถ้าไม่ตัดแต่งกิ่ง จะสะสมโรคและแมลงมาก ถ้าทำสาวโดยตัดแต่งแต่ไม่ดูแล ไม่ใส่ปุ๋ย ก็ไม่ได้ผลผลิต ซึ่งไม่ได้อยู่ที่การทำสาวแต่อยู่ที่การดูแล แต่ถ้าทำสาวแล้วดูแลดี ผลผลิตจะมาก แต่มะขามอายุมากผลผลิตอาจลดลง ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องเก็บฝักผลมะขามหวาน ซึ่งยังต้องใช้คนเก็บและต้องระมัดระวัง ต้องทะนุถนอมมาก ไม่งั้นฝักแตก ฝักได้รับความเสียหาย และยังไม่มีโรงงานแปรรูปพร้อมเครื่องแกะเปลือกแยกเมล็ด เนื่องจากยังใช้คนแยกฝักและต้องเก็บในห้องเย็นอยู่


คำถามแนะนำสำหรับคุณ

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู