ข่าวสาร
K10 วิทยาการป่าไม้
30 มิถุนายน 2565
ปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญ

แนวคิดการปลูกต้นไม้มีค่าเพื่อเป็นบำนาญในยามชราเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฯลฯ ที่ไม่มีบำเหน็จบำนาญในยามชรา หากเราเริ่มปลูกไม้มีค่าตั้งแต่อายุ 30 ปี พออายุ 60 ปีไม้ที่ปลูกก็เติบโตมีราคาไม่ต่ำกว่าต้นละ 30,000 บาท

วิระ ปัจฉิมเพ็ชร เกษตรกรและประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลนาขา อ.หลังสวน จ.ชุมพร บอกว่าเขาเริ่มปลูกไม้มีค่าตั้งแต่ปี 2547 ตอนนั้นอายุ 33 ปี (ปัจจุบันอายุ 51 ปี) โดยปลูกแซมในสวนผลไม้ เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 20 ไร่ เช่น ยางนา จำปาทอง ตะเคียนทอง มะฮอกกานี และสะเดาเทียม โดยทยอยปลูกเรื่อยมา รวมไม้ที่ปลูกทั้งหมดประมาณ 500 ต้น

“ไม้ยืนต้นที่เราปลูก เช่น ตะเคียนทอง จำปาทอง สะเดาเทียม จากการคำนวณพบว่าเมื่อปลูกลงดินแล้วไม้แต่ละต้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 3 บาท, 1 ปี 1 พันบาท, 10 ปี 1 หมื่นบาท และ 30 ปีประมาณ 3 หมื่นบาท หากปลูก 100 ต้น ภายในเวลา 30 ปี จะมีทรัพย์สินงอกเงยขึ้นมา 3 ล้านบาท”

ปัจจุบันไม้เหล่านี้มีอายุประมาณ 16-18 ปี เช่น จำปาทองอายุ 18 ปี มีความสูงประมาณ 16 เมตร เส้นรอบวงประมาณ 130 เซนติเมตร แม้ว่าไม้พวกนี้จะใช้เวลาในการเติบโต จนอายุประมาณ 30-40 ปี จึงจะสามารถตัดขายหรือนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่เขาและครอบครัวก็มีรายได้รายวัน-รายเดือนจากปลูกผักสวนครัวแบบอินทรีย์ เพาะเห็ด และมีรายได้รายปีจากมังคุด ทุเรียน และการเลี้ยงผึ้งโพรง

“ตอนที่ปลูกไม้มีค่า ผมคิดว่าจะได้ใช้ประโยชน์ตอนแก่ เพราะไม้พวกนี้กว่าจะโตใช้ประโยชน์ได้ ผมก็จะมีอายุประมาณ 60 ปี เอามาใช้สร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ หรือขายเป็นบำนาญก็ได้ เพราะหากผมตัดไม้ที่มีอายุ 30 ปี มีราคาต้นละ 3 หมื่นบาท ขายเดือนละ 1 ต้น ผมก็จะมีเงินใช้เดือนละ 3 หมื่นบาท ผมมีต้นไม้ 500 ต้น และหากปลูกทดแทนเรื่อย ๆ ตัดจนตายก็ยังตัดไม่หมด” วิระบอก

นอกจากวิระจะปลูกไม้มีค่าในผืนดินของตนเองแล้ว ในฐานะประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลนาขา เขาได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านในตำบลปลูกไม้มีค่าต่าง ๆ ตามรูปแบบของ ‘ธนาคารต้นไม้’ (จัดตั้งครั้งแรกที่บ้านคลองเรือ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ในช่วงปี 2549) เพื่อเป็นบำนาญในยามสูงวัย แต่จะต้องเริ่มปลูกตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ปัจจุบันมีสมาชิกธนาคารต้นไม้ประมาณ 120 ราย รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักและผลไม้อินทรีย์ เช่น ทุเรียน มังคุด โดยร่วมมือกับ อบต. รพ.สต. อสม.ขับเคลื่อนเรื่องนี้ เขาบอกว่าหากเกษตรกรยังใช้สารเคมี แม้จะมีรายได้ดี แต่สารเคมีก็จะสะสมในร่างกาย เกิดปัญหาโรคภัยติดตามมา ทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ “สังคมสูงวัยต้องอยู่กับการทำการเกษตรที่ยั่งยืน มีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง และมีความสุข ไม่ใช่สูงวัย แต่ยังยากจน หรือต้องเอาเงินไปใช้รักษาตัวในตอนแก่” วิระย้ำ

นอกจากแนวคิด ‘ปลูกต้นไม้เป็นบำนาญ’ ที่จังหวัดชุมพรแล้ว ที่ตำบลเขาแก้ว อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ก็มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้เป็นบำนาญเช่นกัน สาโรจน์ สินธู ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า ตำบลเขาแก้วมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมาในปี 2553 โดยให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเดือนละ 30 บาท แล้วนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิก

เช่น เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล ช่วยเหลือคืนละ 200 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 15 คืน เสียชีวิตช่วยเหลือตามอายุการเป็นสมาชิกตั้งแต่ 2,000-12,000 บาท ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น อบต.เขาแก้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นอกจากนี้ได้จัดตั้งสถาบันการเงินชุมชนขึ้นมาในปี 2558 ให้สมาชิกสะสมเงินและกู้ยืมไปใช้ในยามเดือดร้อน (ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 600 คน เงินหมุนเวียนกว่า 6 ล้านบาท) ในปี 2560 กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้วจัดทำโครงการ ‘ออมต้นไม้’ โดยแจกกล้าไม้มีค่าให้สมาชิกปลูก เช่น ตะเคียนทอง จำปาทอง พะยูง สะเดาเทียม ฯลฯ โดยปลูกแซมในสวนผลไม้ แบบสวน ‘สมรม’ ให้ธรรมชาติดูแลกันเอง จำนวน 1,000 ต้น และแจกเพิ่มขึ้นปีละ 1,000 ต้น

ปัจจุบันมีสมาชิกที่ปลูกต้นไม้ประมาณ 90 ครอบครัว ปลูกไม้มีค่าแล้วประมาณ 5,000 ต้น เมื่อไม้เติบโตมีอายุ 10 ปีขึ้นไปสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้วได้ นอกจากนี้ยังมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในตำบล เช่น ผืนดินมีความชุ่มชื้น สร้างพื้นที่สีเขียว เพิ่มออกซิเจน ลดก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ

“เรากำหนดว่าต้นไม้ที่มีเส้นรอบวง 1 เซนติเมตร จะมีมูลค่า 100 บาท หากมีเส้นรอบวง 1 เมตร จะมีมูลค่า 1 หมื่นบาท ถ้ามี 10 ต้นสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์กู้เงินจากสถาบันการเงินชุมชนฯ ได้ถึง 1 แสนบาท หรือปล่อยให้ต้นไม้โตขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะมีราคาสูงขึ้น เมื่อต้นไม้อายุ 30 ปีจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าต้นละ 2-3 หมื่นบาท หากปลูก 100 ต้นก็จะมีเงินล้านเอาไว้ใช้ในยามสูงวัย” สาโรจน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกจากชาวชุมชนจะตื่นตัวเรื่องปลูกไม้มีค่าเป็นบำนาญแล้ว ปัจจุบันธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนทั่วประเทศปลูกไม้มีค่าเพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. เริ่มปล่อยสินเชื่อครั้งแรกในปี 2562 โดยมีต้นไม้ 58 ชนิดที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ได้ เช่น สัก ประดู่ พะยูง ชิงชัน ไม้ตระกูลยาง ฯลฯ (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.baac.or.th/treebank/baac-tree-bank-2015.pdf)

อ้างอิงข้อมูล สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร 
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

 


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู