ข่าวสาร
28 มิถุนายน 2565
สหกรณ์โคนมลำพูนฯ พัฒนาการผลิตน้ำนมคุณภาพสูง เพิ่มรายได้สมาชิกกว่า 30% สร้างความเชื่อมั่นโปร่งใส เปิดให้สมาชิกตรวจสอบผ่านแอปฯ
สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด ได้รับการคัดเลือกเป็นสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564/2565 ประเภทสหกรณ์โคนม โดยสหกรณ์ฯ มีบทบาทช่วยยกระดับการผลิตน้ำนมโคของสมาชิกให้มีคุณภาพ จำหน่ายได้ราคาสูง และมีต้นทุนการผลิตต่ำ สร้างความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งยังส่งเสริมให้สมาชิกใช้แอปพลิเคชันตรวจสอบสถานะการเงินของตัวเองผ่านสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา
 

นายชญานนท์ ญาติมาก ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด เปิดเผยว่า สหกรณ์ฯ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 89 ราย มีคณะกรรมการดำเนินการจำนวน 11 คน และมีฝ่ายจัดการซึ่งทำหน้าที่ดูแล ให้บริการสมาชิก การดำเนินงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา สหกรณ์ฯ ได้มีการจัดทำแผนงานประจำปีเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับสมาชิก โดยเฉพาะการส่งเสริมการลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพผลผลิต โดยได้จัดทำโครงการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมโคให้มีคุณภาพ ตั้งแต่ฟาร์มของเกษตรกรสมาชิก เนื่องจากผลผลิตน้ำนมดิบที่สามารถจำหน่ายให้กับบริษัทผู้รับซื้อต้องเป็นน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ และได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคนม (Good Agricultural Practice : GAP) และสถาบันเกษตรกรที่ดำเนินการรวบรวมผลผลิตน้ำนมดิบต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ (Good Manufacturing Practice : GMP) จึงจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงฟาร์มของสมาชิกให้ผ่านมาตรฐานทั้งหมด สหกรณ์ฯ จึงบูรณาการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรมปศุสัตว์ กำหนดแนวทางในการส่งเสริมให้สมาชิกได้รับความรู้และสามารถ พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ตั้งแต่การปรับปรุงพัฒนาฟาร์มให้ผ่านมาตรฐาน มีสุขอนามัยที่ดี และการพัฒนาคุณภาพน้ำนม

โดยสมาชิกจะต้องตรวจคุณภาพน้ำนมเบื้องต้นด้วยน้ำยา CMT เพื่อหาเชื้อปนเปื้อนจากโรคเต้านมอักเสบ เมื่อมาถึงศูนย์รับน้ำนมดิบของสหกรณ์ฯ ก็จะตรวจด้วยน้ำยา CMT ซ้ำอีกครั้ง รวมถึง ตรวจการปนเปื้อนปฏิชีวนะในน้ำนม จากนั้นจะแบ่งเกรดการรับซื้อน้ำนมดิบ เกรด 1 กิโลกรัมละ 18.50 บาท เกรด 2 กิโลกรัมละ 18.30 บาท เกรด 3 กิโลกรัมละ 17.50 บาท และเกรด 4 กิโลกรัมละ 16 บาท ซึ่งน้ำนมดิบของสมาชิกส่วนใหญ่ อยู่ในระดับเกรด 1 และหากน้ำนมดิบของสมาชิกรายใดมีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะมีเจ้าหน้าที่สัตวบาลของสหกรณ์ฯ เข้าไปให้คำแนะนำแก้ไขโดยปัจจุบันสามารถรวบรวมน้ำนมดิบจากสมาชิกได้เฉลี่ย 25 ตันต่อวัน ดำเนินการจัดส่งให้กับบริษัทคู่ค้าซึ่งมีอยู่ 3 แห่ง คือ บริษัท แดรี่ พลัส จำกัด ปริมาณ 20 ตันต่อวัน บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด 3.5 ตันต่อวัน และ อ.ส.ค. ภาคเหนือ 1.5 ตันต่อวัน

นอกจากนี้ สหกรณ์ฯ ยังมีการส่งเสริมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนให้กับสมาชิก ตั้งแต่การผสมพันธุ์ โดยจะใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ มาช่วยย่นระยะในการตรวจท้องแม่โคหลังจากได้รับการผสมไปแล้ว 21 วัน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรทราบว่า ผสมติดหรือไม่ หากแม่โคไม่ท้องก็เหนี่ยวนำให้เป็นสัดและผสมใหม่อีกครั้ง แต่หากใช้วิธีเดิมจะต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือนถึงจะทราบว่าแม่โคท้องหรือไม่ ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสหากแม่โคไม่ท้อง ซึ่งจากการดำเนินการพบว่าช่วยเพิ่มอัตราการผสมติดได้ถึง ร้อยละ 70 สมาชิกก็จะมีแม่โครีดนมเพิ่มขึ้น ได้ปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น ในส่วนของการลดต้นทุนการผลิต สหกรณ์ฯ ได้ส่งเสริมให้สมาชิกใช้อาหาร TMR (อาหารผสมสำเร็จรูป) เลี้ยงโคนม ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุน การผลิตแล้วยังเพิ่มช่วยคุณภาพน้ำนมได้ โดยสหกรณ์ฯ จะเป็นผู้ผลิตเฉลี่ยวันละ 10 ตัน จำหน่ายให้กับสมาชิก ในราคากิโลกรัมละ 3.80 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาท้องตลาดที่จำหน่ายที่กิโลกรัมละ 4.50 บาท ช่วยให้สมาชิก ลดต้นทุนค่าอาหารได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

"นอกจากจุดเด่นด้านการพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิกแล้ว การดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ยังเน้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิก โดยส่งเสริมให้สมาชิกใช้แอปพลิเคชัน เพื่อตรวจสอบสถานะทางบัญชีของตัวเอง และทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ตลอดเวลาผ่านสมาร์ทโฟน ส่วนเป้าหมายการพัฒนายกระดับอาชีพของสมาชิกและธุรกิจของสหกรณ์ฯ คือจะร่วมกับ กรมปศุสัตว์ในการพัฒนาสายพันธุ์โคเพื่อให้สมาชิกมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนสหกรณ์ฯ ก็จะต่อยอดธุรกิจจากการรวบรวมน้ำนมดิบจำหน่ายให้กับบริษัทคู่สัญญามา สู่การผลิตนมพาสเจอร์ไรส์จำหน่ายอีกช่องทางหนึ่งด้วย โดยทุกๆ กิจกรรมของสหกรณ์ฯ มีกรมส่งเสริมสหกรณ์อยู่เคียงข้าง เป็นที่ปรึกษา และให้การสนับสนับสนุนทั้งเรื่องแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ในการดำเนินกิจกรรม และเรื่องของระเบียบ ข้อบังคับของสหกรณ์ เพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และสามารถอำนวยประโยชน์ให้สมาชิกสูงสุด" นายชญานนท์ กล่าว

ด้าน คุณสุรชัย ศิริเรือง สมาชิกสหกรณ์โคนม ลำพูน จำกัด เปิดเผยว่า เป็นสมาชิกของสหกรณ์มา 9 ปี มีอาชีพเลี้ยงโคนมเป็นหลัก มีโคนมทั้งหมด 70 ตัว มีแม่โครีดนม 37 แม่ ได้น้ำนมดิบเฉลี่ย 500 กิโลกรัมต่อวัน ตั้งแต่เป็นสมาชิกมา ทางสหกรณ์ฯ ให้การช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน ด้านความรู้ในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการได้เข้าร่วมโครงการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมโค ถือว่าช่วยให้การผลิตน้ำนมมีคุณภาพมาก โดยน้ำนมดิบของฟาร์มจะอยู่ในระดับเกรด 1 ซึ่งจำหน่ายได้ในราคาสูง กิโลกรัมละ 18.50 บาท อีกทั้งการใช้อาหาร TMR ของสหกรณ์ก็ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้มาก ทำให้มีรายได้เหลือมากขึ้น ปัจจุบันมีรายได้จากการเลี้ยงโคนมเฉลี่ยวันละ 9,000 บาท หักต้นทุนแล้วจะเหลือกำไรเฉลี่ยวันละ 2,000 บาท หรือประมาณ 60,000 บาทต่อเดือน เปรียบเทียบกับก่อนเข้าร่วมโครงการ มีรายได้เพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 30 ในขณะที่การดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ก็มีความโปร่งใส เพราะสหกรณ์ฯ ส่งเสริมให้สมาชิกใช้แอปพลิเคชันในการตรวจสอบสถานะความเคลื่อนไหวของสหกรณ์ฯ และข้อมูลทางบัญชีของตัวสมาชิกเองผ่านโทรศัพท์มือถือได้ตลอดเวลา เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย สะดวก ตอกย้ำให้เราเชื่อมั่นในขบวนการสหกรณ์ฯ มากขึ้น เป็นหลักประกันอย่างดีให้กับครอบครัวในการดำรงชีวิต สหกรณ์ฯ ช่วยให้เรามีรายได้ที่มั่นคง เป็นที่พึ่งในยามเดือดร้อนด้านต่างๆ เช่น โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ อีกทั้ง ยังมีสวัสดิการอื่นๆ ให้กับสมาชิกอีกด้วย

 


แหล่งที่มา

นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 29 มิ.ย. 2565 (กรอบบ่าย)
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู