ข่าวสาร
F01 การผลิตพืช
20 ตุลาคม 2564
ส่องฟาร์มเห็ด 'เพชรบูรพา' แนะทางเลือกเป็นทางรอดช่วงโควิด-19

พิมพ์พิชา เกตุงาม Young SmartFarmer-YSF เล่าว่า เมื่อปี 2554 ช่วงน้ำท่วมใหญ่จึงตัดสินใจกลับมาอยู่ชลบุรี โดยเริ่มทำเกษตรอย่างจริงจัง จนทำให้ฟาร์มเพชรบูรพาที่ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เป็นที่รู้จักจากการเพาะก้อนเชื้อเห็ดขายมานานนับสิบปี รวมทั้งให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจทำฟาร์มเห็ด ซึ่งมีเห็ดหลากหลายชนิด ทั้ง เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว และเห็ดมิลกี้ ในพื้นที่ 4 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย บ่อน้ำ พืชผักสวนครัวและฟาร์มเห็ด

เป็นคนชอบกินเห็ดเลยศึกษาเรื่องเห็ด ตอนแรกทำเห็ดฟางก่อน ทำได้ 2-3 ปีวัตถุดิบอย่างทะลายปาล์มที่รีดน้ำมันแล้วหายาก ส่วนที่มีขายก็ด้อยคุณภาพ ยุ่ย เพาะเห็ดได้แต่ออกไม่ดี ทำให้ขาดทุน อีกอย่างมีปัญหาแรงงานเพราะเป็นงานหนัก และคิดว่าควรทำเห็ดอื่นที่ครอบครัวพอทำกันได้ เช่น เห็ดนางฟ้า เลยไปศึกษาจนมาทำก้อนเห็ดขาย ทั้งเห็ดนางฟ้า นางรม ฮังการี และหูหนู พร้อมศึกษาเรื่องเห็ดมิลกี้ด้วย เป็นเห็ดดอกสีขาว คนไทยนำเข้ามาจากอินเดีย รสชาติออกหวาน ๆ เนื้อหนึบๆ เหมือนปลาหมึก และมีกลิ่นเฉพาะตัว นำไปขายที่ตลาด อ.ต.ก. เป็นแพ็ก ราคา 100 บาท น้ำหนัก 300 กรัม

ตอนแรกที่เปลี่ยนมาทำเห็ดก้อนก็เปิดดอกขายก่อน แต่เนื่องจากเวลาน้อยและผลผลิตไม่ได้ออกทุกวัน ต้องเปิดหมื่นก้อนขึ้นไปถึงจะออกทุกวันในปริมาณเยอะ ๆ พอลองเปิดแล้วปรากฏว่าคุณภาพก้อนเชื้อดี พอเริ่มประกาศขายก้อน และเพิ่มกำลังการผลิต ทำจากน้อยไปหามาก ลูกค้าที่เริ่มมาซื้อก็มีการซื้อซ้ำแสดงให้เห็นว่าคุณภาพดี จึงเพิ่มกำลังการผลิตไปเรื่อย ๆ จนเริ่มมีลูกค้าประจำ จากนั้นเลยหยุดเปิดดอกขาย แต่ที่เปิดดอกขายอยู่บ้างตอนนี้คือที่เหลือคัดแล้วจะเก็บไว้เปิดดอกเอง

ลูกค้าที่ซื้อส่วนใหญ่เป็นฟาร์มเห็ดย่อยๆ ที่ไม่ผลิตก้อนเองเพราะไม่มีกำลังคน ไม่มีพื้นที่หรือไม่มีเครื่องมือ เลยมาซื้อที่ฟาร์มดีกว่า ราคา 8 บาทต่อก้อน เป็นราคาส่ง ทั่วไปขายราคาเดียว ลูกค้าซื้อ 8 บาทก็สามารถทำกำไรได้อีกเท่าหนึ่ง อยู่ที่การดูแลของแต่ละคน ถ้าดูแลดีเห็ดจะออกสม่ำเสมอทุกอาทิตย์ ที่ผ่านมาก้อนเชื้อเห็ดของฟาร์มเพชรบูรพามีลูกค้าประจำมาซื้อตลอด ส่วนสำคัญเพราะมีคุณภาพ

"จุดเด่นของฟาร์มคือใส่รำในปริมาณพอเหมาะ หากใส่มากไปจะทำให้เกิดโรคราเขียวและเราใส่ใจในการผลิตตั้งแต่แรก ตั้งแต่คุณภาพของขี้เลื่อยที่นำมาใช้ ต้องพักไว้อย่างน้อย 15-30 วัน เพื่อให้คลายตัวและเย็นลง ไม่ให้มีแก๊ส หลังจากนั้นค่อยผลิต เละเลือกหัวเชื้อที่นำมาใช้ด้วยจะดูว่าอันไหนคุณภาพดี และทนต่อทุกสภาพอากาศ เปอร์เซ็นต์เสียน้อยนอกจากนี้คือวิธีการอบ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำก้อนเชื้อเห็ด ถ้าอบไม่ได้จะเสียทั้งล็อต ต้องอบให้ได้ 100 องศา เลี้ยงให้อุณหภูมินี้ไปสัก 3-4 ชั่วโมงถึงจะโอเค พอมาหยอดเชื้ออะไรก็เดินดี ก้อนจะไม่ติด"

วิธีการหยอดเชื้อก็เหมือนที่อื่น โรงบ่มก็ต้องบ่มให้ดี มีที่กันแมลง เพราะแมลงหวี่จะเข้าไปไข่ที่จุกฝา จะเป็นตัวหนอนเข้าไปกินเส้นใย ที่ฟาร์มมีโรงบ่ม 5-6 โรง ผลิตได้ปกติอาทิตย์ละ 3,000 ก้อน ถือว่าไม่เยอะมาก รวมที่ลูกค้าสั่งและนอกออร์เดอร์ด้วย ที่เปิดดอกเองขายส่งอยู่ที่ 60 บาท เพราะเวลาออกดอกเยอะๆ ขายไม่ทัน ทางฟาร์มจะขายให้แม่ค้าไปขายอีกต่อหนึ่ง ตัดส่งเป็นล็อตเลย (สนใจโทร. 09 9464 6693)

"ถือเป็นอาชีพที่มั่นคง โดยเฉพาะในช่วงโควิด อย่างน้อยคนอยู่บ้านก็อยากปลูกเห็ด ซื้อก้อนเห็ดไปปลูกที่บ้านไว้กินเอง โดยทางฟาร์มไปขายที่ร้าน young smart ที่ตลาด อ.ต.ก.ด้วย ผลัดกันขายกับเครือข่ายกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ ตลาด อ.ต.ก. ที่อนุเคราะห์ให้กลุ่มเกษตรกรยังสมาร์ตฟาร์มเมอร์มีร้านเป็นของตัวเอง" คุณพิมพ์พิชาบอกด้วยว่า ก้อนเชื้อเห็ดของฟาร์มมีหลากหลายชนิด แต่เห็ดที่ขายดีที่สุดคือ ก้อนเห็ดนางฟ้าภูฏาน ซึ่งเน้นมากที่สุด เห็ดอื่นจะเพาะตามออร์เดอร์ ถ้าลูกค้าสั่งมาจะผลิตให้ เห็ดชนิดที่เพาะทำก้อนเชื้อยากที่สุดเป็นเห็ดหลินจือ เพราะบางที่หัวเชื้อที่ได้มาเหมือนยังไม่บริสุทธิ์พอ

ปัญหาอุปสรรคของการเพาะเห็ดเป็นเรื่องอากาศ ถ้าฝนตกจะอบยาก อีกอย่างบางครั้งขาดแคลนวัตถุดิบอย่างขี้เลื่อย อย่างไรก็ตาม แต่ละฤดูกาลจะมีปัญหาต่างกัน อย่างฤดูร้อนอากาศร้อนต้องปรับอุณหภูมิโดยการระบายอากาศรอบ ๆ และสร้างฝ้ากำบังความร้อน รดน้ำที่พื้นให้เกิดความเย็นไม่เช่นนั้นหัวเชื้อจะเสีย เชื้อจะเดินช้าลงหรือตาย ฤดูฝนก็ต้องระวังคนที่เปิดดอก ถ้าทำก้อนเห็ดขายจะไม่มีปัญหา แต่คนที่เปิดดอกจะมีเรื่องราเมือก ราเขียว เพราะความชื้น ช่วงหน้าฝนที่ฟาร์มจะงดน้ำเพื่อไม่ให้ความชื้นเกิน ปัญหาหอยทากก็มีจะกินดอกเห็ดตอนกลางคืน

ในฐานะผู้มีประสบการณ์นานนับสิบปีให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอยากเพาะก้อนเชื้อเห็ดเป็นอาชีพ ว่าถ้าอยากทำแบบครบวงจร อย่างน้อยที่ดินต้องมี 2 ไร่ มีแหล่งน้ำเป็นของตัวเองที่ไม่ฉีดสารเคมีหรือมีสารปนเปื้อนในน้ำ เพราะมีผลกับดอก อุปกรณ์ถ้าทำแบบประหยัด คือทำด้วยมือ เตาอบก็สร้างเอง ทำไม่ยาก ค่าใช้จ่ายหลักพัน โรงเรือนสร้างเองประหยัดไปได้เยอะมาก

คุณพิมพ์พิชา เกตุงาม นับเป็นยังสมาร์ตฟาร์มเมอร์ที่ประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มเห็ด ปีหนึ่งมีรายได้หลักหลายแสนบาท และยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้นักเรียนและผู้สนใจเข้ามาศึกษาวิธีการเพาะเห็ดอีกด้วย


แหล่งที่มา

นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 21 ต.ค. 2564 (กรอบบ่าย)
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู