ข่าวสาร
E14 เศรษฐศาสตร์การพัฒนา
21 มกราคม 2564
เวียดนามน็อกไทย โค่นข้าวหอมมะลิ

ส่งออกข้าวไทย ปี 64 คาดทำได้ 6.5 ล้านตัน เวียดนามลุ้นหมัดเด็ด ส่งข้าวหอม ST25 โค่นหอมมะลิไทยตกบัลลังก์แชมป์ ดีเดย์ส่งคร็อปใหม่ตีตลาดโลก มี.ค.นี้ ชี้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าหอมมะลิไทยเท่าตัว แถมราคาถูกกว่าอื้อ นักวิชาการจี้รัฐ-เอกชนเลียนโมเดลเวียดนามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวส่งออก ก่อนอันดับโลกกู่ไม่กลับ

อดีตจนถึงปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรและกรมการข้าวได้มีการรับรองสายพันธุ์ข้าวเพื่อให้เกษตรกรปลูกแล้วรวม 255 สายพันธุ์ แต่ที่ภาคเอกชนสามารถนำไปแข่งขันส่งออกได้มีแค่หลักสิบพันธุ์ ตัวชูโรงคือข้าวหอมมะลิ ข้าวสารเจ้า 5% และ 25% และข้าวเหนียว เป็นต้น ขณะที่เวียดนามคู่แข่งสำคัญมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพื่อการส่งออกอย่างจริงจัง มุ่งเป้าไปที่กลุ่มข้าวพื้นนุ่มหรือข้าวหอมที่ขายได้ราคาสูง โดยตั้งราคาต่ำกว่าข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งอนาคตไทยมีแนวโน้มไทยจะเสียตลาดกลุ่มข้าวหอมให้กับเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า ล่าสุดเวียดนามได้มีการพัฒนาข้าวหอมสายพันธุ์ใหม่ "พันธุ์ ST25" และพันธุ์นี้ได้รับรางวัลในการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก (Best Rice in the World) ในการประชุมข้าวโลกปี 2019 ที่ฟิลิปปินส์ (ซึ่งได้เริ่มทำการโปรโมตผ่านโซเชียลช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา) โดยจุดเด่นข้าวหอม ST25 มีเมล็ดเรียวยาวสวยเหมือนข้าวบาสมาติของอินเดีย มีความหอมคล้ายข้าวหอมมะลิไทย และมีความนุ่มหวาน ทานอร่อยเหมือนข้าวญี่ปุ่น มีผลผลิตต่อไร่สูงเฉลี่ยถึง 1,000 กิโลกรัม (กก.) ราคาส่งออก (เอฟโอบี) เฉลี่ยที่ 650 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่ข้าวหอมมะลิของไทยที่ครองแชมป์ข้าวหอมส่งออกของโลกมายาวนาน(ข้าวหอมมะลิได้รับรางวัลข้าวดีที่สุดในโลกในการประกวดปี 2020) มีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยเพียง 450 กก. ราคาส่งออก ณ ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 900-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งสูงกว่าข้าวหอมเวียดนามเกือบเท่าตัว ทำให้ปัจจุบันข้าวหอมมะลิไทยเสียเปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีสิทธิ์สูงมากว่าอนาคตไทยอาจจะเสียแชมป์ข้าวหอมโลกให้กับเวียดนาม หากไม่มีการพัฒนาข้าวหอมตัวใหม่ ๆ ในการแข่งขัน

ปัจจุบันข้าวหอมหรือกลุ่มข้าวพื้นนุ่มของเวียดนามมีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวจัสมิน85, ST24 และ ST25 เป็นต้น โดยในส่วนของพันธุ์ ST25 ของเวียดนาม ในปีที่ผ่านมาผลผลิตยังไม่เพียงพอจำหน่ายในประเทศที่ได้รับความนิยมสูงมาก จึงเหลือส่งออกไม่มาก แต่ปีนี้ผลผลิตคร็อปใหม่จะออกมาในเดือนมีนาคม คาดจะมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นและเหลือส่งออกมากขึ้น ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับข้าวหอมมะลิไทย นอกจากนี้มีข้าวหอมมะลิของกัมพูชาที่ต้องจับตา เพราะเฉลี่ยขายที่ราคา 750-800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ถูกกว่าหอมมะลิไทยกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

"ภาพรวมส่งออกข้าวไทยปี 2563 คาดจะทำได้ประมาณ 5.7-5.8 ล้านตัน ต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยปี 2564 เบื้องต้นคาดว่าจะส่งออกได้ที่ 6.5 ล้านตัน โดยปัจจัยบวกคงต้องรอลุ้นตลาดเดิมจะกลับมาซื้อข้าวไทยเพราะเชื่อมั่นในคุณภาพเช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย ส่วนปัจจัยลบได้แก่ การแข่งขันกับราคาข้าวส่งออกของคู่แข่งที่ขายราคาต่ำกว่า จากต้นทุนต่ำกว่าไทยทั้งเวียดนาม อินเดีย จีน กัมพูชา ลาว เงินบาททิศทางแข็งค่า ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น"

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของประเทศกล่าวว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทส่งออกข้าวได้ประมาณ 8 แสนตันลดลงจากปีก่อน ๆ ในปีนี้ข้าวไทยยังมีความหวังจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น หากฝนฟ้าดีและมีผลผลิตมากขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยจะต่ำลงทำให้แข่งขันส่งออกได้ดีขึ้น จากปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้คร็อปการผลิตข้าวนาปรังหายไป 1 คร็อป และส่วนหนึ่งของเกษตรกรหันไปปลูกพืชอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนดีกว่า โดยปี 2564สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประเมินจะส่งออกได้ที่ 6.5 ล้านตัน "เวลานี้เวียดนามถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวเพราะหันไปเล่นตลาดข้าวพื้นนุ่ม โดยพันธุ์ใหม่คือข้าวหอม ST25 ถ้าเทียบคุณภาพแล้วแม้จะยังสู้ข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้ แต่เขาขายถูกกว่า โดยขายที่ 600-700 เหรียญต่อตัน หอมมะลิไทย 900 กว่าเหรียญต่อตัน โดยราคาเขาอยู่ตรงกลางระหว่างข้าวขาวกับข้าวหอมมะลิไทย ทำให้เขาส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"

จี้เลียนโมเดลเวียดนาม ด้าน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า เวียดนามมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมต่อเนื่อง จากพันธุ์จัสมิน 85 ต่อเนื่องเป็น ST21, ST22, ST23, ST24 และ ST25 ตามลำดับ โดยเวียดนามมียุทธศาสตร์การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพื่อการส่งออกที่ชัดเจน ชูนโยบาย 3 ลด คือ ลดค่าปุ๋ย ลดค่าสารเคมี และลดค่าเมล็ดพันธุ์ และ 3 เพิ่ม คือ เพิ่มคุณภาพ เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ ในส่วนของการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว รัฐบาลเวียดนามได้ร่วมกับเอกชนที่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ให้ผลผลิตสูง ราคาแข่งขันได้ และตรงกับความต้องการของตลาด และกระจายให้เกษตรกรทำการปลูก ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตที่แน่นอนเพื่อบริโภคในประเทศและเพื่อส่งออก ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาของไทย


แหล่งที่มา

ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู