ข่าวสาร
T10 ภัยจากการเกษตร
27 ตุลาคม 2563
อะโวคาโดกำลังทำให้เม็กซิโกเกิดแผ่นดินไหว

อะโวคาโดเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และมีโปรตีนมากกว่าผลไม้อื่น ๆ แม้อะโวคาโดจะเป็นผลไม้ที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคยนัก อะโวคาโดจะเป็นผลไม้รูปร่างคล้ายหลอดไฟนี้ เป็นญาติกับต้นอบเชย เพราะจัดอยู่ในวงศ์ Lauraceae เช่นเดียวกัน พืชในวงศ์นี้ส่วนใหญ่แล้วจะเติบโตได้ดีในเขตร้อน อะโวคาโดจึงมีถิ่นกําเนิดอยู่ในแถบอเมริกากลาง โดยเฉพาะในประเทศเม็กซิโก และกัวเตมาลา

แต่ผลไม้ชนิดนี้เป็นที่นิยมของผู้คนในอเมริกาเหนือและยุโรป จนทำให้มีการบริโภคสูงถึงปีละ 5 ล้านตัน ซึ่งประเทศที่ส่งออกอะโวคาโดมากที่สุดในโลกก็คือ เม็กซิโก การบริโภคอะโวคาโดที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับภาคการเกษตรของเม็กซิโก จนทำให้ได้รับฉายาว่า “ทองคำสีเขียว” แต่ความจริงแล้วผลของการปลูกอะโวคาโดกำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติครั้งสำคัญของประเทศนี้

อะโวคาโดเป็นพืชที่ชอบแสงแดดและน้ำมากและจะเจริญเติบโตได้ดีที่ระดับความสูงมากกว่า 400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งประเทศเม็กซิโกก็มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเช่นนั้น และเป็นประเทศที่ส่งออกอะโวคาโดมากที่สุดในโลกในปี 2019 คิดเป็นมูลค่าถึง 90,000 ล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วน 43% ของทั้งโลก โดยเขตที่ปลูกอะโวคาโดมากที่สุดในเม็กซิโกคือรัฐ Michoacán ใจกลางของประเทศไม่ไกลจากเมืองหลวง กรุงเม็กซิโกซิตี รัฐ Michoacán หรือที่อ่านว่า มิโชอากัง มีพื้นที่ราว ๆ 59,000 ตารางกิโลเมตร ใกล้เคียงกับภาคใต้ของประเทศไทย ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง

ทางตอนเหนือของรัฐมีแนว Trans-Mexican Volcanic Belt หรือเขตภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นพาดผ่าน และเขตนี้เองเป็นเขตที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งที่สุดแห่งหนึ่งของเม็กซิโก ด้วยความที่อยู่ไม่ไกลจากเส้นศูนย์สูตร อยู่บนที่สูง และมีดินอุดมสมบูรณ์จากภูเขาไฟ ทุกอย่างเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นอะโวคาโด รัฐแห่งนี้จึงเป็นแหล่งเพาะปลูกที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นเกือบ 80% ของทั้งประเทศอะโวคาโดมีส่วนสำคัญในวัฒนธรรมเม็กซิโกโดยเฉพาะเรื่องอาหาร เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญของ “กัวคาโมเล” หรือ น้ำพริกประจำชาติ ที่สามารถจิ้มกับอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ทาโกหรือเบอร์ริโต ซึ่งถือได้ว่าเป็นน้ำพริกที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหารสำหรับชาวเม็กซิโก แต่อะโวคาโดไม่ได้สำคัญสำหรับชาวเม็กซิโกเท่านั้น เพราะอีกประเทศหนึ่งที่นำเข้าผลไม้ชนิดนี้มากที่สุดก็คือ “สหรัฐอเมริกา” แต่เดิมสหรัฐอเมริกาไม่ได้นำเข้าผลไม้จากเม็กซิโกมากนัก จนเมื่อเริ่มมีข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ในปี ค.ศ. 1994 ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่าง 3 ประเทศ คือ แคนาดา สหรัฐฯ และเม็กซิโก เพื่อลดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างกัน ทำให้ในปี ค.ศ. 2005 อะโวคาโดจากเม็กซิโกก็เข้ามาตีตลาดจนเต็มซูเปอร์มาร์เก็ตของสหรัฐฯ และทำให้การบริโภคอะโวคาโดของคนในสหรัฐฯ เติบโตเกือบ 2 เท่าในอีก 10 ปีถัดมา ที่น่าสนใจคือ ผู้ที่นิยมบริโภคอะโวคาโดส่วนหนึ่งเป็นชาวเม็กซิโกที่อพยพเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา ผู้คนเหล่านี้อาศัยอยู่หนาแน่นในรัฐที่ติดชายแดนประเทศเม็กซิโก เช่น แคลิฟอร์เนีย แอริโซนา และเท็กซัส

อุปสงค์ที่เติบโตขึ้นอย่างมากตลอดเวลาหลายสิบปี จึงทำให้เกษตรกรในรัฐมิโชอากังเลือกที่จะถางป่า โดยเฉพาะป่าดิบเขา ซึ่งเป็นลักษณะของพืชพรรณธรรมชาติในรัฐแห่งนี้เพื่อทำสวนอะโวคาโดเพิ่มมากขึ้น เรื่องนี้ทำให้พื้นที่ปลูกอะโวคาโดในเม็กซิโกที่เพิ่มจนมีขนาดเกือบ 1 ล้านไร่ เริ่มส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ

นักวิจัยจาก National Autonomous University of Mexico วิทยาเขต Morelia ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐมิโชอากัง ระบุว่าการทำสวนอะโวคาโดที่ทำให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่ามากขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งฤดูร้อนที่ร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น เกิดมรสุมถี่ขึ้น รวมไปจนถึงรบกวนการขยายพันธุ์ของผีเสื้อ Monarch ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในป่าของรัฐแห่งนี้

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการปลูกอะโวคาโดก็คือ “น้ำ” ในแต่ละวัน รัฐมิโชอากังต้องใช้น้ำปริมาณมากถึง 9,500 ล้านลิตรในการดูแลต้นอะโวคาโด ซึ่งปริมาณนี้เทียบได้กับน้ำในสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิกถึง 3,800 สระ เมื่อปริมาณแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง ทางออกของเกษตรกรคือการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการทรุดตัวของชั้นดิน รัฐมิโชอากังที่อยู่ในเขตแผ่นดินไหวของเม็กซิโกอยู่แล้ว เมื่อมีการขุดน้ำบาดาลที่ส่งผลกระทบต่อชั้นหินอุ้มน้ำ จึงกลายเป็นสาเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายต่อหลายครั้ง

มีรายงานว่า ในช่วงวันที่ 5 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2020 เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กในรัฐแห่งนี้มากถึง 3,247 ครั้ง ปัญหาเหล่านี้จึงกำลังเป็นปัญหาสำคัญของภาคการเกษตรในเม็กซิโก เพราะหากเลือกที่จะควบคุมการเพาะปลูก ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัฐมิโชอากังอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเลือกที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูก สิ่งที่ตามมาก็คือการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบที่น่ากลัวกว่านั้นมาก

สำหรับประเทศไทย ด้วยความนิยมของอะโวคาโดที่แพร่หลายมากขึ้น จึงทำให้เริ่มมีการปลูกอะโวคาโดในจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงรายและเชียงใหม่

ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดนี้ อยู่ในแนวละติจูดใกล้เคียงกับรัฐมิโชอากังของเม็กซิโก อีกทั้งยังมีสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาเหมือนกัน โดยในปี 2016 เชียงราย เป็นจังหวัดที่มีการปลูกอะโวคาโดมากที่สุดในไทย แต่ก็มีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 850 ไร่ ซึ่งยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเม็กซิโก

ความต้องการอะโวคาโดที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเกษตรกรไทยในอนาคต ทั้งเพื่อเพิ่มรายได้ และเพิ่มความหลากหลายของผลิตผลทางการเกษตร แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าหากการปลูกอะโวคาโดในไทยเพิ่มมากจนเกินไป ผลที่ตามมาก็อาจนำมาสู่ภัยธรรมชาติเช่นเดียวกัน เพราะทั้งเชียงรายและเชียงใหม่ ก็อยู่ในเขตแผ่นดินไหว ไม่ต่างไปจากเม็กซิโก


แหล่งที่มา

ลงทุนแมน
https://www.longtunman.com/25947
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู