ข่าวสาร
L02 อาหารสัตว์
27 ตุลาคม 2563
หนุนเกษตรกรปลูกแหนแดง ช่วยลดต้นทุนผลิตอาหารสัตว์

"ปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทยยังประสบปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารที่ราคาสูง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ดังนั้น นโยบายการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์ ในโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการเกี่ยวเนื่องฯ จึงมุ่งหาอาชีพให้เกษตรกรสร้างรายได้ ซึ่งการปลูกพืชอาหารสัตว์ อาทิ แหนแดง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเนเปียร์ ถือเป็นอาชีพทางเลือกที่เป็นทางออกให้เกษตรกร" นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าว

แหนแดงเป็นพืชที่ใช้เวลาปลูกสั้นเติบโตเร็ว 15-30 วันก็ขายได้ เป็นที่ต้องการของตลาด โปรตีนสูง มีไนโตรเจนสูงถึง 5% ขณะที่ปุ๋ยพืชสดตระกูลถั่วมีธาตุอาหารไนโตรเจนประมาณ 2.5-3% และราคาอาหารสัตว์ท้องตลาดราคา 12 บาท/กก. แต่หากเป็นอาหารผสมเองราคา 4 บาท/กก. เป็นการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร

แหนแดงเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก พบอยู่ตามบริเวณน้ำนิ่ง เช่น บ่อ หรือคูน้ำ สำหรับแหนแดงพันธุ์กรมวิชาการเกษตรให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่บนผิวน้ำในนาข้าว 1 ไร่ จะให้ผลผลิตสดถึง 3 ตัน (150 กิโลกรัมแห้ง) ซึ่งเป็นปริมาณไนโตรเจนได้ประมาณ 6-7 กิโลกรัม ประโยชน์คือ ทดแทนหรือลดใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับพืชผักไม้ผล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพใช้ปุ๋ยเคมี ใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับเลี้ยงสัตว์ และมีต้นทุนต่ำ เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0 2 579 7523


แหล่งที่มา

กรมวิชาการเกษตร
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู