ข่าวสาร
F30 ปรับปรุงพันธุ์พืช
10 กันยายน 2563
สวทช.ร่วมคิดค้น 'ปทุมมา' พันธุ์ใหม่...ห้วยสำราญ

ปทุมมาพันธุ์ห้วยสำราญ ดอกสีสดใส

น.ส.วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รอง ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ อ.เมืองอุดรฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงเกษตร แต่ในช่วงฝนยังขาดพันธุ์ไม้ดอกที่หลากหลาย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) จึงร่วมกับนักวิจัย สวทช. และผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปทุมมาให้กลุ่ม ซึ่งเป็นไม้ดอกที่ผลิบานในฤดูฝน อีกทั้งยังเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยมีมูลค่าการส่งออกหัวพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านหัวต่อปี คิดเป็นมูลค่า 8 ล้านบาทต่อปี
          นอกจากนี้นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และห้างหุ้นส่วนจำกัด ลัคกี้ซีดส์ อโกร ยังร่วมกันพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปทุมมาด้วยเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ภายใต้ “โครงการพัฒนาไม้ดอกสกุลขมิ้นเพื่อการค้าพันธุ์ใหม่” โดยหนึ่งในสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ได้มอบให้กลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ และตั้งชื่อว่า “พันธุ์ห้วยสำราญ”
          ทั้งนี้การจัดงาน “ปทุมมาเบ่งบาน เที่ยวห้วยสำราญสุขใจ” ระหว่าง 11 ก.ย. - 31 ต.ค. จะเป็นมิติใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรบนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผู้เข้าชมงานจะได้รับทั้งความรู้และชมความสวยงามของไม้ดอกปทุมมา
          นายธราธร ทีรฆฐิติ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า จุดเด่นของปทุมมาสายพันธุ์ห้วยสำราญคือ สีสดใส แตกกอดี
          ด้านนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ มีสมาชิก 104 ราย ปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายพันธุ์ เช่น มะลิร้อยมาลัย เบญจมาศ ดาวเรือง ดอกพุด คลัสเตอร์ กุหลาบร้อยมาลัย เป็นต้น ความร่วมมือกับ สท./สวทช. ทำให้เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปทุมมา ซึ่งเป็นไม้ดอกหน้าฝนที่คุ้นเคย ที่ผ่านมากลุ่มได้เปิดให้ท่องเที่ยวชมแปลงไม้ดอกไม้ประดับฤดูหนาวในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. สร้างรายได้ให้ชุมชนได้กว่า 2 แสนบาท

อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม https://www.nstda.or.th/agritec/siam-tulip/

แหล่งที่มา

ข่าวสด ฉบับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู