ข่าวสาร
A50 วิจัยเกษตร
13 สิงหาคม 2563
เห็ดร่างแหสายพันธุ์ไทย คุณสมบัติตอบโจทย์คนรักสุขภาพและผู้สูงวัย สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร

กรมวิชาการเกษตร วิจัยสำเร็จเห็ดร่างแหสายพันธุ์ไทย คุณสมบัติโดดเด่นให้สารสำคัญด้านสุขภาพบำรุงสมองดีต่อหัวใจ รองรับสังคมสูงวัยและกลุ่มรักสุขภาพ ปรุงเป็นอาหารกลิ่นไม่คาว เนื้อกรุบกรอบไม่เปื่อยยุ่ย ลุยถ่ายทอดเทคโนโลยีเพาะเห็ดสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 3,000 บาทต่อแปลง

นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าเห็ดร่างแหชนิดอบแห้งไม่ต่ำกว่า 6,500 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาทจากประเทศจีน  ซึ่งมีการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการเพาะเห็ดร่างแหอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 80 ปี ในขณะที่หลายประเทศพยายามพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดร่างแห เพราะเป็นเห็ดที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญมากมายหลายชนิด ดังนั้นเห็ดร่างแหจึงเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการในปริมาณมาก

ในปี 2559-2563 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 ได้ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดร่างแหสายพันธุ์ไทยที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคใต้ภายใต้แนวคิดเป็นเห็ดสายพันธุ์ใหม่ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง  ช่วยบำบัดโรค ที่สำคัญสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร  และลดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศได้ด้วย  โดยได้ดำเนินการสำรวจ รวบรวม จำแนกสายพันธุ์   คัดเลือกเห็ดร่างแหที่ให้ผลผลิตสูง  ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการเพาะที่เหมาะสม ได้แก่ การผลิตเชื้อขยาย  การผลิตเชื้อเพาะ  วัสดุเพาะที่เหมาะสมต่อการเกิดดอก  และการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการเพาะเห็ดร่างแหพบว่าเห็ดหลินจือเป็นวัสดุผลิตเชื้อขยายที่ดี ทำให้เส้นใยเจริญได้ดี มีความหนาแน่นมาก และใช้ระยะเวลาบ่มเชื้อน้อยเพียง 30 วัน ส่วนสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเชื้อเพาะคือ สูตรที่มีส่วนผสมของขี้เลื่อยไม้ยางพารา:รำละเอียด:ปูนขาว:ดีเกลือ:ยิปซัม อัตรา 90:5:1:2:2 ซึ่งใช้เวลาบ่มเชื้อเพียง 32 วัน และวัสดุเพาะที่เหมาะสมต่อการเกิดดอก คือสูตรที่มีส่วนผสมของใบไผ่และกิ่งไผ่:แกลบดิบ:ขุยมะพร้าว อัตรา 50:25:50 ทำให้การพัฒนาตุ่มดอกจนเก็บผลผลิตครั้งแรกใช้เวลาเฉลี่ย 27- 35 วัน

การวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของดอกเห็ดร่างแหสายพันธุ์ไทยพบมีกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ วิตามินซี  ซิลิเนียม สังกะสี ซึ่งมีส่วนป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งลำไส้ กลุ่มสารสำคัญที่มีส่วนช่วยกระบวนการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ได้แก่ แคลเซียม และแมกนีเซียม รวมทั้งกลุ่มสารสำคัญที่มีส่วนช่วยกระบวนการทำงานของสมองด้านการเรียนรู้และการจดจำ ได้แก่ เหล็ก วิตามิน B9 และวิตามิน B12

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดร่างแหสายพันธุ์ไทยไปสู่เกษตรกรทั้งวิธีการเพาะในตะกร้าซึ่งให้ผลผลิตสูงสุด 794  กิโลกรัมต่อตะกร้าเพาะ เพาะแบบวิธีขึ้นชั้นให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง 3,170 กรัม และเพาะในแปลงให้ผลผลิตประมาณ 2 กิโลกรัม รวมทั้งได้จัดทำแปลงขยายผลร่วมกับวิสาหากิจชุมชนสวนลุงวร อ.ควนเนียง จ.สงขลา เพื่อให้เกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่เพาะเห็ดร่างแหเพื่อบริโภคในครัวเรือนและเป็นรายได้เสริมอาชีพหลัก โดยได้ผลผลิตเฉลี่ย 5–7 กิโลกรัม  ราคาขายกิโลกรัมละ 500 บาท  ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3,500 บาทต่อแปลงเพาะ โดยมีต้นทุนการผลิต 850บาทต่อแปลงเพาะ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากเห็ดทั้งเห็ดร่างแหชนิดสด และเห็ดร่างแหชนิดแห้ง โดยเมื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารเห็ดร่างแหสายพันธุ์ไทยจะมีความกรุบกรอบของเนื้อสัมผัส และไม่เปื่อยยุ่ย กลิ่นไม่คาว  ซึ่งเป็นเอกลักณ์เฉพาะตัวต่างจากเห็ดร่างแหที่นำเข้าจากจีนหากต้มเป็นระยะเวลานานเนื้อเห็ดจะเปื่อยและยุ่ย  

เห็ดร่างแหสายพันธุ์ไทยมีกลุ่มสารสำคัญซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง  มีส่วนช่วยกระบวนการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและสมอง มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคในด้านเป็นอาหารบำรุงสุขภาพและบำบัดโรคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยและกลุ่มผู้รักสุขภาพ ในส่วนของวัสดุที่เหมาะสมต่อการเกิดดอกเมื่อผ่านกระบวนการเก็บผลผลิตแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุปลูกให้แก่พืชผักได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากมีอินทรียวัตถุและสารอาหารที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้  หากสนใจเทคโนโลยีการเพาะเห็ดสายพันธุ์ไทยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา โทร. 0 7458 6725” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว


แหล่งที่มา

กรมวิชาการเกษตร
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู