ข่าวสาร
P10 ทรัพยากรน้ำ
17 มกราคม 2563
ภัยแล้งลามใต้ ทะเลสาบเค็ม

ภาวะฝนที่ทิ้งช่วงยาวนาน และปริมาณฝนน้อยกว่าปกติในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ทำให้น้ำในทะเลสาบสงขลามีค่าความเค็มสูงกว่ามาตรฐานปกตินานกว่า 1 เดือน จนไม่สามารถนำมาใช้ในภาคการเกษตร พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรง เพราะถือเป็นแหล่งน้ำจืดหลักหล่อเลี้ยงนาข้าวในทุ่งระโนด จนเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย ค่าความเค็มที่สูงเกินค่ามาตรฐานของทะเลสาบสงขลายังมีผลต่อการนำเข้าสู่ระบบประปาสำหรับอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาแล้ว 2 เดือน ถือเป็นสภาวะผิดปกติ แตกต่างจากหลายปีที่ผ่านมา แม้ทุกปีจะมีช่วงที่น้ำในทะเลสาบสงขลาจะมีความเค็มสูง แต่ในปีนี้กลับเค็มเร็วกว่าปีก่อน ๆ ประมาณ 2 เดือน ส่งผลกระทบต่อนาข้าว และพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำคาบสมุทรสทิงพระ ได้แก่ อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอสทิงพระอย่างรุนแรง เนื่องจากเกษตรกรเพาะปลูกกันตามฤดูกาลปกติ เมื่อแหล่งน้ำหลักอย่างทะเลสาบสงขลามีค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐาน อยู่ที่ 2.50-2.90 กรัมต่อลิตรมาตั้งแต่ปลายปีก่อน จึงไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะค่ามาตรฐานที่จะนำมาใช้ในการผลิตประปาไม่ควรเกิน 0.50 กรัมต่อลิตร ส่วนการเกษตรไม่ควรเกิน 1.50 กรัมต่อลิตรเท่านั้น

ความเค็มที่มาเร็วกว่าปกติของน้ำในทะเลสาบสงขลาเป็นผลพวงจากปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากมีฝนตกลงมาน้อย ฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้ไม่มีน้ำจืดเข้ามาเติมเพื่อเจือจาง และผลักดันน้ำเค็มในทะเลสาบสงขลาออกสู่อ่าวไทย คาดการณ์ว่าค่าความเค็มเช่นนี้จะยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีฝนตกลงมา หรือมีน้ำจืดเข้ามาเติม นั่นหมายถึงต้องรอไปจนถึงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงเริ่มมีฝนในภาคใต้ ชาวบ้านในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระระบุว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน

นายสยาม อิ่มเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำมากกว่า 20 เครื่อง เพื่อสูบน้ำจากคลองธรรมชาติที่ยังพอมีน้ำจืดในพื้นที่ รวมถึงประสานไปยังพื้นที่ข้างเคียงเพื่อขอสนับสนุนน้ำจากลำคลองธรรมชาติเข้ามาเสริมผ่านระบบชลประทานของโครงการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวประมาณ 7 หมื่นไร่ในทุ่งระโนด ที่ขณะนี้มีบางส่วนที่ข้าวตั้งท้องใกล้ที่จะเก็บเกี่ยว ซึ่งเบื้องต้นได้สูบน้ำมาแล้ว 4 วัน เกษตรกรนำเครื่องสูบน้ำส่วนตัวมาสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรกร

น้ำจืดชุดแรกจากคลองธรรมชาติในพื้นที่คาดว่าจะมีประมาณ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยนาข้าวได้ประมาณ 19,000 ไร่ ส่วนน้ำอื่น ๆ ที่เข้ามาเสริม รวมถึงน้ำจากคลองพลเอกอาทิตย์ ซึ่งเป็นคลองสายสำคัญในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระนั้นมีน้ำประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ในภาพรวมประเมินว่าพื้นที่นี้จะมีน้ำจืดใช้ไปจนถึงเดือนมีนาคมเท่านั้น

สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น "จารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา" ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไข และลดผลกระทบ พร้อมเน้นย้ำการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ และร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด โดยในที่ประชุมประเมินว่า ในช่วงเดือนมีนาคม ความชื้นในอากาศน่าจะมีเพิ่มขึ้น จะสามารถทำฝนหลวงมาช่วยในพื้นที่ได้

สำหรับพื้นที่ทุ่งระโนดมีนาข้าวประมาณ 1 แสนไร่ ปลูกข้าวไปแล้ว 7 หมื่นไร่ ซึ่งเป็นข้าวนาปี แต่ชาวนาจำนวนไม่น้อยก็ยืนยันที่จะทำนาปรัง หรือทำนาครั้งที่ 2 แม้ทางการจะประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้าว่าน้ำจืดเหลืออยู่น้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่นาข้าวในทุ่งระโนดเป็นพื้นที่นาเช่า เมื่อเช่าแล้วหากไม่ทำนาก็ต้องจ่ายค่าเช่า ชาวนาจึงจำเป็นต้องทำนา แม้จะมีความเสี่ยงที่ผลผลิตจะได้รับความเสียหาย ขณะที่พื้นที่อำเภอสทิงพระ ชาวนาจะทำนาเพียงปีละครั้ง และพื้นที่นาไม่มากนัก แต่จะมีกิจกรรมทางด้านการเกษตรอื่น ๆ เข้ามาเสริม ส่วนพื้นที่อำเภอกระแสสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์ดี ในปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำในทะเลสาบสงขลาเค็มเกินมาตรฐานทำให้กังวลว่าจะมีผลผลิตข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาดน้อย เป็นหนึ่งสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับภาคใต้ พื้นที่ที่มีฝนตกชุกมากกว่าภูมิภาคอื่น และมีแหล่งน้ำจำนวนมาก แต่ยังไม่รอดพ้นวิกฤตภัยแล้งไปได้

 


แหล่งที่มา

มติชน ฉบับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2563
https://www.matichon.co.th/
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู