ข่าวสาร
H20 โรคพืช
18 ตุลาคม 2562
เตือนชาวสวนยาง...พบเชื้อราระบาดหนัก ‘นราธิวาส’ อ่วม! เสียหายนับแสนไร่

นายวีระ นุ้ยผอม ผอ.กยท.สาขาสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมเดินทางไปพบปะพูดคุยและทำความเข้าใจกับชาวบ้านหมู่บ้านโล๊ะจูด ม.9 ต.โล๊ะจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส หลังจากที่ตรวจพบว่าต้นยางพารามีการแพร่ระบาดของ เชื้อรา Pestalotiopsis sp. อย่างหนักในพื้นที่ 44 หมู่บ้าน 6 ตำบล ซึ่งมีสวนยางพาราทั้งสิ้น 106,415 ไร่

โดยต้นยางพาราแต่ละต้นจะมีลักษณะคล้ายกับการผลัดใบ แต่ข้อสังเกตคือ ใบของต้นยางพาราที่ร่วงลงมาเพราะติดเชื้อราจะมีรูปร่างคล้ายวงกลมสีเหลืองเป็นจุดๆ เหมือนรอยไหม้ ซึ่งเชื้อราชนิดนี้แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีภูมิอากาศร้อนชื้นและฝนตกชุก เหมือนกับพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โรคเชื้อรานี้คาดว่ามีการแพร่ระบาดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน จากกระแสลมที่พัดพานำเชื้อราเข้ามาในพื้นที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส และพัดพาเชื้อรานี้ต่อไปยังอำเภอใกล้เคียง จนแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อำเภอต่างๆ ของ จ.นราธิวาส ซึ่งอาการใบร่วงจากเชื้อรานี้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของต้นยางพารา เนื่องจากแต่ละต้นมีใบร่วงมากกว่าร้อยละ 90 จึงเป็นต้นเหตุทำให้ผลผลิตลดลงถึงร้อยละ 30 ถึง 50 เลยทีเดียว และหากเจ้าของสวนยางพารายังคงกรีดยางในขณะที่ต้นยางพาราติดเชื้อรานี้ มีโอกาสจะส่งผลกระทบต่อต้นยางพาราในอนาคตได้ คืออายุของต้นยางพาราอาจจะสั้นลง เนื่องจากต้นยางพาราขาดน้ำเลี้ยงและเปลือกจะแห้งและยืนต้นตายไปในที่สุด

นอกจากนี้ได้รับการเปิดเผยจาก นายวีระ นุ้ยผอม ผอ.กยท.สาขาสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพิ่มเติมว่า มีพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อรา Pestalotiopsis sp. หลายอำเภอ ซึ่งพื้นที่ที่แพร่ระบาดหนักสุดอยู่ใน อ.แว้ง อ.ระแงะ และ อ.รือเสาะ ส่วนอำเภออื่นๆ ก็เริ่มมีการแพร่ระบาดหลายจุด โดยภาพรวมคิดเป็นเนื้อที่หลายแสนไร่ ซึ่งขณะนี้ทาง สนง.กยท.ที่รับผิดชอบได้เข้าไปสำรวจ และทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเบื้องต้นแล้ว โดยทาง ผอ.กยท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งคาดว่าในเร็ววันนี้ กำลังปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชาเพื่อนำโดรนติดตั้งเครื่องบรรจุน้ำยาป้องกันเชื้อรา ขึ้นบินเพื่อโปรยน้ำยาป้องกันเชื้อราทางอากาศให้สวนยางพาราของชาวบ้าน โดยจะทดลองในพื้นที่ ต.โล๊ะจูด อ.แว้ง หากพบว่ามาตรการดังกล่าวได้ผล ก็จะปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอสนับสนุนโดรนมาบินโปรยยาป้องกันเชื้อราในโอกาสต่อไป

ด้าน นายนิพนธ์ ศรีสุวรรณ ประธานศูนย์รวบรวมน้ำยางสด อ.แว้ง กล่าวว่า ในเบื้องต้นโรคใบร่วงนี้ช่วงแรกสถานการณ์ค่อนข้างปกติ โดยในเวทีชาวบ้านมีการพูดคุยเพียงแค่น้ำยางไม่ออก สาเหตุเกิดจากอะไร ก็มานั่งวิเคราะห์กัน ในช่วงฤดูนี้ใบยางพาราไม่น่าร่วง และเมื่อประมาณเดือนสิงหาคมมีการจัดประชุมกรรมการกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ โดยมีสมาชิกบางคนพูดขึ้นว่า เหตุที่เกิดขึ้นมันผิดปกติ ที่ใบยางพาราร่วงน่าจะเป็นโรคอะไรสักอย่าง จึงได้แจ้งไปยังการยางแห่งประเทศไทย สาขาสุไหงโก-ลก ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาดูจึงเห็นว่าผิดสังเกต และได้แจ้งประสานไปตามลำดับชั้น จนกระทั่งเจ้าหน้าที่วิจัยเกี่ยวกับโรคได้ลงมาดูแล้วนำใบยางพาราที่ร่วงไปเพาะเชื้อ จนทราบว่าเป็นโรคที่ระบาดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และรุนแรง น่าเป็นห่วง โดยเจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่า ให้กวาดใบและฉีดพ่นยาป้องกันเชื้อรา ซึ่งแนวทางจริงในการปฏิบัติทำได้ยากในพื้นที่กว้าง ซึ่งแปลงใหญ่มีสมาชิก 65 ราย เนื้อที่เกือบ 1,000 ไร่ติดเชื้อราทั้งหมด และทราบว่าขณะนี้แพร่ระบาดไปในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก สุคิริน สุไหงปาดี และได้ลุกลามไปยัง อ.ระแงะ ซึ่งต่อไปอาจจะขึ้นไปทาง อ.บาเจาะ หรือลุกลามไปยังเขต จ.ปัตตานี ยะลา สงขลา หากไม่รีบป้องกัน ส่วนผลผลิตก็หายไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลกระทบตรงนี้เป็นวัฏจักร ถ้าเราสังเกตจะพบว่าใบจะร่วง และเกิดยอดใหม่ ยอดใหม่ก็จะติดโรคอีก ก็จะวนอยู่อย่างนี้ ซึ่งจะกระทบต่อต้นยาง ทำให้หน้าตาย น้ำยางไม่มี


แหล่งที่มา

เทคโนโลยีชาวบ้าน
https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_127887
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู