ข่าวสาร
L10 การปรับปรุงพันธุ์สัตว์
8 ตุลาคม 2562
กรมปศุสัตว์โชว์ศักยภาพ มั่นใจเกษตรกรได้พันธุ์สัตว์ที่มีคุณภาพดี

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีศูนย์ผลิตน้ำเชื้อมาตรฐานที่ได้รับการรับรองโดยกรมปศุสัตว์ทั้งหมด 34 ศูนย์ เป็นโค 18 แห่ง สุกร 9 แห่ง แพะ 4 แห่ง และกระบือ 3 แห่ง ซึ่งศูนย์ผลิตน้ำเชื้อฯ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์จะมีข้อกำหนดในการตรวจโรคติดต่อทางระบบสืบพันธุ์ โรคติดเชื้อ และโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพของน้ำเชื้อที่ผลิตได้ รวมถึงกระบวนการผลิตน้ำเชื้อที่ได้มาตรฐาน และมีการควบคุมจากสัตวแพทย์ โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการขอรับและออกใบรับรองมาตรฐานศูนย์ผลิตน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์สัตว์ พ.ศ. 2560 และประกาศกรมปศุสัตว์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้มั่นใจได้ว่าพ่อพันธุ์ปศุสัตว์และน้ำเชื้อที่ผลิตจากศูนย์ผลิตน้ำเชื้อมาตรฐานมีมาตรฐานและคุณภาพน้ำเชื้อที่ดี ปราศจากโรคติดต่อทางระบบสืบพันธุ์ และโรคทางพันธุกรรม ผสมติดง่าย และสามารถสืบประวัติย้อนกลับได้อีกด้วย สำหรับข้อเสียของการใช้น้ำเชื้อที่ไม่ได้ผลิตจากศูนย์ผลิตน้ำเชื้อมาตรฐาน หรือน้ำเชื้อเถื่อนนั้น นอกจากจะไม่มีคุณภาพ มีอสุจิเคลื่อนที่น้อย หรืออสุจิไม่เคลื่อนที่ อาจจะมีสิ่งปลอมปน ทำให้ผสมไม่ติดแล้วนั้น น้ำเชื้อที่ได้อาจไม่ตรงกับข้อมูลที่นำเสนอ หรืออาจมีการปลอมปนจากพ่อพันธุ์ตัวอื่น ไม่ตรงกับพ่อพันธุ์ที่ระบุไว้ที่หลอดน้ำเชื้อ นอกจากนี้พ่อพันธุ์ไม่ได้ผ่านการตรวจโรคประจำทุกปี ทำให้ได้รับโรคติดต่อผ่านทางน้ำเชื้อ เช่น โรคแท้งติดต่อ เป็นต้น จะส่งผลให้เกิดความเสียหายด้านผลผลิตได้อีกด้วย

ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงมีนโยบายบังคับใช้กฎหมายด้านน้ำเชื้อปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด โดยมีแผนดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้และความเข้าใจด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ผลิตน้ำเชื้อมาตรฐาน และเรื่องโทษที่เกิดจากการใช้น้ำเชื้อปศุสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐานให้แก่เกษตรกร ผู้ผลิตน้ำเชื้อปศุสัตว์และประชาชนทั่วไปทราบ รวมทั้งจะดำเนินการเข้มงวดกับหน่วยผสมเทียมในสังกัดกรมปศุสัตว์ทั่วประเทศ นอกจากนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคคือเกษตรกร ให้โคของตนเองได้รับการผสมจากพ่อพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการและมีประสิทธิภาพ โดยกรมปศุสัตว์จะเริ่มดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดกับศูนย์น้ำเชื้อที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ผสมเทียมที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป หากเกษตรกรหรือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำเชื้อปศุสัตว์ที่ไม่ได้คุณภาพสามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลได้ที่ Application DLD 4.0 กรมปศุสัตว์จะได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาดต่อไป ซึ่งผู้กระทำผิดจากการขายน้ำเชื้อเถื่อนจะได้รับโทษคือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู