ข่าวสาร
F50 โครงสร้างของพืช
21 สิงหาคม 2562
“มะละกะ” ผลไม้หากินยากของ อ.ตะกั่วป่า คล้ายลางสาดและไม่ใช่ลองกอง

ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่ ลูกมะละกะ ผลไม้ชื่อดังประจำอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา ออกสู่ท้องตลาด ให้ผู้ที่ชื่นชอบได้ลิ้มชิมรส ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่มีรูปร่างของผลคล้ายกับลองกองและลางสาด ซึ่งคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนก็จะไม่สามารถแยกไม่ได้เลย

แต่เมื่อได้ลองลิ้มชิมรสชาติของมันแล้ว ก็จะรู้ได้เลยว่าแตกต่างกับลองกองและลางสาดอย่างชัดเจน เพราะลูกมะละกะ เมื่อปอกเปลือกออกจะไม่มียาง มีความหวานแบบเย็นๆ เนื้อแห้ง เคี้ยวหนึดๆคล้ายกับวุ้นมะพร้าวหรือเยลลี่ ทำให้ได้รับความนิยมในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก แต่ผลผลิตมีน้อยจนต้องมีการสั่งจองในช่วงที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด และทำให้มีราคาสูงกว่าลองกองและลางสาด นอกจากความแตกต่างในเรื่องของรสชาติแล้ว ในส่วนของลำต้นและใบก็ต่างกัน เปลือกลำต้นของมะละกะจะขรุขระกว่าลองกองและลางสาด ใบมีลักษณะกลมมนและใหญ่กว่า

ส่วนระยะเวลาจากออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวก็พอๆ กัน ผลจะเป็นช่อเหมือนกัน แต่ลุกมะละกะจะร่วงหลุดจากช่อง่ายกว่ามากทำให้ที่วางขายกันอยู่มักจะไม่ค่อยมีเป็นช่อๆ ปัจจุบันยังไม่มีเกษตรกรรายใดทำเป็นสวนมะละกะโดยเฉพาะ แต่จะปลูกแซมในสวนผลไม้อื่นเท่านั้น

สำหรับปีนี้ช่วงผลผลิตออกใหม่ๆ ขายได้กิโลกรัมละ 50-60 บาท แต่ล่าสุดขายปลีกกิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ที่สูงกว่าทั้งลองกองและลางสาด

ว่าที่ร้อยเอกพงศ์ศักดิ์ เวทยาวงศ์ นายอำเภอตะกั่วป่า เปิดเผยว่า มะละกะ เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับลางสาดและลองกอง เริ่มปลูกครั้งแรกที่บ้านบางลาน ต.โคกเคียน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยเล่ากันว่ามีชาวอำเภอตะกั่วป่านำเมล็ดมาจากประเทศอินโดนีเซียมาเริ่มปลูก จากนั้นก็ได้มีการขยายพันธุ์ไปปลูกในพื้นที่ใกล้เคียง แต่ไม่ได้มีการปลูกเพื่อการค้า ทำให้มีกันบ้านละไม่ถึง 10 ต้น คาดว่ามีพื้นที่ปลูกรวมกันไม่ถึง 5 ไร่ เนื่องจากเป็นผลไม้ที่แปลกมีรสชาติและเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงกลายเป็นผลไม้ชื่อดังประจำอำเภอตะกั่วป่า


แหล่งที่มา

เทคโนโลยีชาวบ้าน
https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_120157
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู