ข่าวสาร
E20 การบริหาร/ธุรกิจเกษตร
15 สิงหาคม 2562
กรมประมง ชูความสำเร็จ ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปลานิลในกระชัง และกุ้งก้ามกราม จังหวัดกาฬสินธุ์ สินค้ามาตรฐาน GAP 100 %

การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ภายใต้การดำเนินโครงการของสำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดกาฬสินธุ์ ซึ่งเริ่มต้นโครงการในส่วนของปลานิลกระชัง ในปี 2559 ต่อมา ปี 2560 ได้ดำเนินการต่อในส่วนของกุ้งก้ามกราม โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การรวมกลุ่มเกษตรกรให้อยู่ในรูปวิสาหกิจชุมชนและพัฒนาเป็นสหกรณ์ ฝึกอบรมให้ความรู้ทั้งในด้านการเพาะเลี้ยงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรวมกลุ่ม การแปรรูป การพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม GAP และการตลาด ซึ่งจากผลการดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 4 แปลง ประกอบด้วย ปี 2559 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชัง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชังท่าเรือภูสิงห์ พื้นที่ 67 ไร่ เกษตรกร 230 ราย ปี 2560 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ตำบลลำคลอง พื้นที่ 318 ไร่ เกษตรกร 30 ราย ปี 2561 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลบัวบาน พื้นที่ 370 ไร่ เกษตรกร 50 ราย และ ปี 2561 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชัง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชังท่าเรือภูสิงห์ พื้นที่ 370 ไร่ เกษตรกร 155 ราย

ในส่วนของกุ้งก้ามกรามจังหวัดกาฬสินธุ์ มีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมาตั้งแต่ ปี 2520 และถือว่าเป็นแหล่งผลิตกุ้งก้ามกรามแห่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีต้นทุนแหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2560 กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้กำหนดให้สำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์เสนอพื้นที่เพิ่มเติมในการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเข้าสู่ระบบแบบแปลงใหญ่โดยได้นำเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลลำคลอง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ในปี 2560 เกษตรกรจำนวน 30 ราย และ ในปี 2561 ได้นำเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด เข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 ราย ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการในระบบแปลงใหญ่ทั้ง 2 กลุ่ม รวม 80 ราย เนื้อที่รวม 688 ไร่ ผลการดำเนินการ ในปี 2561 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 187.55 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็น 203.88 กิโลกรัม ต่อไร่ เพิ่มขึ้น 8.71 % ในขณะที่ ต้นทุนการเลี้ยงต่อกิโลกรัมลดลงจาก 137.61 บาท เหลือเพียง 126.20 บาท ลดลง 8.29 %

ส่วนการส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลในกระชังในเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างแห่งความสำเร็จจากการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี 2560 ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอยางตลาด อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอเมือง อำเภอห้วยเม็ก และอำเภอหนองกุงศรี โดยปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังในเขื่อนลำปาว 522 ราย จำนวน 13,587 กระชัง ปริมาณการผลิต ปีละ 17,504 ตัน มูลค่าประมาณ 1,050 ล้านบาท ต่อปี โดยการเลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำปาว ได้มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ใช้ในการเลี้ยงปลาในกระชังอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และกรมประมงยังได้ให้คำแนะนำและตรวจรับรองผลผลิตปลานิลให้เป็นไปตามมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (GAP) อีกด้วย

ในปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลแปลงใหญ่ในกระชังเขื่อนลำปาว ยังได้ต่อยอดสร้างความเข้มแข็งด้วยการร่วมบริหารจัดการในรูปของสหกรณ์ เพื่อบริหารจัดการภายในกลุ่มแปลงใหญ่ตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง ซึ่งใน 1 ปี เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาได้ 2 ครั้ง มีตลาดรองรับที่ชัดเจน เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อปีกว่า 200,000 บาท ถือเป็นความสำเร็จของการรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่ที่ในอนาคตมีโอกาสพัฒนาไปสู่การผลิตปลานิลที่มีคุณภาพป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ

https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_119368


แหล่งที่มา

เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562
https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_119368
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู