ข่าวสาร
20 มิถุนายน 2561
รายงานพิเศษ: เฝ้าระวังศัตรูพืชอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ

ศัตรูพืชเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรผู้ปลูกพืชมาโดยตลอดซึ่งไม่เพียงเป็นศัตรูพืชที่พบเป็นประจำหรือมีการระบาดซ้ำอยู่บ่อยครั้งแล้วยังต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือกับศัตรูพืชอุบัติใหม่หรือชนิดใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนด้วย

นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า การที่ศัตรูพืชเกิดระบาดใหม่หรือกลับมาระบาดซ้ำได้ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายด้าน เช่น พืชมีความอ่อนแอ ศัตรูพืชเป็นสายพันธุ์รุนแรง เพิ่มปริมาณได้รวดเร็ว และสภาพแวดล้อมเหมาะสม รวมถึงการปฏิบัติทางการเกษตร และการใช้พันธุ์จากแหล่งที่พบการระบาด ซึ่งถือเป็นการนำศัตรูพืชจากแหล่งหนึ่งไปสู่อีกแหล่งหนึ่งได้ง่าย บางชนิดสร้างความเสียหายได้ถึง 100%
ทั้งนี้ ศัตรูพืชที่ไม่เคยพบการระบาดมาก่อน หากเกิดการระบาดจึงเรียกว่าเป็นการเกิด "ศัตรูพืชอุบัติใหม่" ไม่ว่าจะเป็นโรคพืช แมลงศัตรูพืช วัชพืช ซึ่งอาจมีหลายนัย นัยแรกคือ ไม่เคยเกิดในประเทศไทย มาก่อนถือเป็นศัตรูพืชอุบัติใหม่ในไทย โดยการแพร่ระบาดมาจาก ลม ฝน พายุ ที่นำพาชิ้นส่วนที่ขยายพันธุ์ได้ หรือแม้กระทั่งแมลงต่างๆ หรืออาจมาจากท่อนพันธุ์หรือชิ้นส่วนของพืช ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

นัยที่สอง คือ ไม่เคยพบการระบาดในพื้นที่มาก่อน เช่น ไม่เคยพบการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาก่อน โดยปกติจะระบาดเฉพาะที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ แต่ต่อมาพบว่าเกิดการระบาดขึ้นที่ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ เช่นนี้ถือว่าหนอนหัวดำเป็นศัตรูพืชอุบัติใหม่ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นัยที่สาม คือ เชื้อโรคหรือแมลงที่เดิมไม่ใช่ศัตรูพืชแต่กลายเป็นศัตรูพืช เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงหรือปัจจัยต่างๆ กระตุ้นให้เชื้อโรคหรือแมลงเหล่านั้นเข้าทำลายพืชกลายเป็นศัตรูพืชได้ เช่น ตัวอ่อนของจักจั่น ทำลายรากอ้อยทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโตและยืนต้นตาย

ส่วน ศัตรูพืชอุบัติซ้ำ หมายถึงศัตรูพืชที่เคยพบการระบาดมาก่อน อาจเกิดมานานหลายปี 10 ปี หรือ มากกว่านั้นแล้วการระบาดยุติ หรือไม่มีการระบาดรุนแรงแต่ยังคงพบความเสียหายอยู่บ้าง กระทั่งปัจจัยต่างๆ มีความเหมาะสมก็กระตุ้นให้เกิดการระบาดรุนแรง หรือกลับมาระบาดใหม่ได้ เช่น การระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวที่เกิดการระบาดรุนแรงเมื่อปี 2557 ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งภาครัฐได้จัดทำโครงการเพื่อการจัดการกระทั่งไม่เกิดการระบาด ต่อมาในปี 2560 เกิดการระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้ง

ดังนั้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดศัตรูพืชอุบัติใหม่ และกลับมาอุบัติซ้ำอย่างแรก คือ พืช ทั้งชนิดพืช พันธุ์พืช ระดับความต้านทานต่อศัตรูพืช ซึ่งการปลูกพืชพันธุ์อ่อนแอเป็นสาเหตุสำคัญของการระบาดรุนแรงและเป็นแหล่งส่งเสริมการทวีจำนวนศัตรูพืชได้ปริมาณมากอย่างไม่มีสิ้นสุดตราบเท่าอายุขัยของพืชเหล่านั้น ปัจจัยที่สองคือ ศัตรูพืช ที่มีผลต่อการระบาดคือ ชนิด สายพันธุ์วงจรชีวิต แหล่งกำเนิดและแหล่งสะสมของการขยายพันธุ์ การทวีจำนวนและการแพร่ระบาด โดยชิ้นส่วนพืช หรือเศษซากพืช ดิน ซึ่งเป็นแหล่งสะสมศัตรูพืช แล้วแพร่ระบาดและการถ่ายทอดไปสู่ต้นใหม่หรือพื้นที่ปลูกใหม่ปัจจัยที่สาม คือ สภาพแวดล้อมเนื่องจากศัตรูพืชหลายชนิดที่เคยพบว่าเคยได้สร้างความเสียหายต่อพืชมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันก็ยังพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง  สาเหตุหลักนอกจากปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือปลูกพืชพันธุ์เดียวที่ไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมแล้ว ยังขึ้นกับวิวัฒนาการของเชื้อโรค วงจรชีวิตของแมลงและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม รวมทั้งสภาพอากาศ โดยปัจจัยสภาพแวดล้อมนั้นนอกจากเป็นสาเหตุของการเกิดการระบาดแล้วยังมีอิทธิพลต่อทั้งการเจริญของพืชและศัตรูพืชด้วยเช่นกัน

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย พยายามสร้างระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยการระบาดของศัตรูพืช โดยจัดทำมีแปลงติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืชกระจายตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศโดยในปี 2561 มีการจัดตั้งแปลงติดตามการระบาดศัตรูพืชจำนวน 1,890 แปลง 38 ชนิดพืช และการดำเนินการสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืชของพืชเศรษฐกิจ 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมะพร้าวเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อประมวลผลและแจ้งเตือนการระบาดของศัตรูพืชได้ทันท่วงที รวมทั้งพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านการจัดการศัตรูพืชและดินปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและชุมชนผ่านเครือข่ายศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน เพื่อการควบคุมศัตรูพืชอย่างถูกต้องเหมาะสม ลดผลกระทบที่เกิดจากศัตรูพืชเข้าทำลายผลผลิตของเกษตรกรให้ได้มากที่สุด


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู