ข่าวสาร
4 มิถุนายน 2561
ยกระดับเกษตรกรสมัยใหม่ด้วยมาตรการบีโอไอ
อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพพื้นฐานของคนไทยมาช้านาน จากยุคอดีตสู่ยุคปัจจุบันที่ทุกวงการสาขาอาชีพต่างก็นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการทำงาน จนกระทั่งมีคำพูดที่ต่อท้ายทุกวงการว่า 4.0 เพื่อแสดงถึงมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งอาชีพเกษตรกรก็เช่นกัน ปัจจุบันวงการเกษตรกรมีคำศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อบ่งบอกถึงความก้าวหน้าในการทำการเกษตร เช่น เกษตรกร 4.0 สมาร์ทฟาร์มมิ่ง (Smart Farming)
Smart Farming ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีเข้าไปผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นการนำอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจอุณหภูมิ เซ็นเซอร์วัดความชื้น และส่งค่าการแสดงผลต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งล้วนแต่เป็นการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์นั่นเอง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ หน่วยงานภาครัฐที่ให้การส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ทั้งไทย และต่างประเทศ โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากร และมิใช่ภาษีอากร จึงมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มเกษตรกรโดยเฉพาะ เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีแต้มต่อในการทำธุรกิจ
มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ Smart Farming เพื่อยกระดับเกษตรสมัยใหม่แบ่งเป็น 3 มาตรการใหญ่ ได้แก่
1. การเปิดประเภทกิจการผลิตหรือให้บริการระบบเกษตรสมัยใหม่ เช่น ระบบตรวจจับหรือติดตามสภาพต่างๆ ระบบควบคุมการใช้ทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เช่น น้ำ ปุ๋ย เวชภัณฑ์ และระบบโรงเรือนอัจฉริยะ เป็นต้น โดยผู้ขอรับการส่งเสริมฯ ต้องมีการออกแบบระบบและซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง มีระบบการแปลผล และวิเคราะห์ข้อมูล
โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี จากรายได้ในการจำหน่ายหรือให้บริการระบบเกษตรสมัยใหม่ โดยไม่กำหนดวงเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
2. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานระดับสากล เช่น มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร (ISO 22000) เป็นต้น เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลและสามารถขยายตลาดได้มากยิ่งขึ้น โดยผู้ขอรับการส่งเสริมฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนที่ใช้ในการยกระดับมาตรฐาน โดยกำหนดให้ยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในเดือนธันวาคม 2563
3. มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคการเกษตรในระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในชุมชนหรือท้องถิ่นสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรหรือสินค้าเกษตรแปรรูปอย่างครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อันจะช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรในประเทศให้สูงขึ้น
ภายใต้มาตรการนี้ จะผ่อนปรนเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนให้ง่ายขึ้น รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กิจการที่จะมีส่วนช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์เคมีนาโน และสารป้องกันการกำจัดศัตรูพืชชีวภัณฑ์ กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ กิจการคัดคุณภาพ บรรจุ และเก็บรักษาพืช ผัก ผลไม้ หรือดอกไม้ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ กิจการผลิตหรือถนอมอาหารและเครื่องดื่ม กิจการศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตร เป็นต้น
กำหนดแนวทางการให้ส่งเสริมออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ผู้ประกอบการรายเล็กลงทุนเอง ลดเงินลงทุนขั้นต่ำเหลือ 5 แสนบาท และผ่อนปรนให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ได้บางส่วน เป็นต้น โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 - 8 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 200 ของเงินลงทุน
กรณีที่ 2 ผู้ประกอบการสนับสนุน/ร่วมดำเนินการกับท้องถิ่น ต้องมีความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน และธุรกิจเดิมต้องอยู่ในประเภทกิจการที่ขอส่งเสริมฯ ได้ แต่ระยะเวลาการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลงแล้ว หรือเป็นโครงการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
สิทธิประโยชน์จะรับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของเงินลงทุนที่จ่ายจริงในการสนับสนุนหรือร่วมดำเนินการ เช่น ค่าก่อสร้างโรงงานและค่าเครื่องจักร เป็นต้น ทั้งนี้ต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ภายในปี 2561

แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู