ข่าวสาร
2 พฤษภาคม 2561
ปลูกผักกูด เก็บยอดได้ทั้งปี

ปัจจุบันผักกูดกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป็นผักที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ ที่สำคัญเป็นผักที่ไม่ค่อยมีแมลงรบกวน แต่จะไวต่อสารเคมี หากมีการใช้สารเคมีจะแคระแกร็นไม่โตไม่แตกยอดหรือไม่ก็ตาย

ในทางโภชนาการผักกูดจำนวน 100 กรัม จะให้พลังงาน 19 กิโลแคลอรี มีเส้นใย 1.4 กรัม แคลเซียม 5 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม เหล็ก 36.3 มิลลิกรัม มีวิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี และไนอาซินค่อนข้างสูง

เป็นผักที่มีรสจืดอมหวานกรอบหยุ่น มีเส้นใยกากมากช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ในทางสมุนไพรมีสรรพคุณทางยา คนไทยในสมัยก่อนนิยมนำใบผักกูดมาต้มน้ำดื่มเพื่อแก้ไข้ตัวร้อน บำรุงสายตา บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ช่วยขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิตสูง ลดคอเลสเตอรอลในเม็ดเลือด

อดีตคนไทยจะนิยมเก็บยอดผักกูดมาจากธรรมชาติ แถบริมแหล่งน้ำทั่วไป จากกระแสความนิยมบริโภคปริมาณจากธรรมชาติไม่เพียงพอ จึงมีการนำมาขยายผลปลูกทั้งเพื่อบริโภคในครัวเรือน และส่งจำหน่ายเชิงพาณิชย์ การปลูกสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบเลียนธรรมชาติ ด้วยการใช้พื้นที่บริเวณร่องสวน หรือที่ชื้นแฉะข้างบ้านเป็นแหล่งปลูก ไปจนถึงการยกแปลงและการจัดสร้างพื้นที่ขึ้นมาเพื่อการเพาะปลูก แต่ส่วนใหญ่จะต้องรอจนถึงช่วงฤดูฝนเท่านั้นจึงจะเก็บยอดมาบริโภคได้ ด้วยผักกูดจะแตกยอดใหม่ๆ ในช่วงที่ได้รับน้ำฝน

เป็นพืชประเภทเฟิร์นขนาดใหญ่ มีเหง้าตั้งตรง สูงได้มากกว่า 1 เมตรขึ้นไป ใบออกมาจากยอดเหง้า มีเกล็ดที่เหง้า ขนาด 1.2 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม ขอบสีดำ ขอบหยักซี่ฟัน มีก้านใบยาวประมาณ 70 เซนติเมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ใบยาวได้มากกว่า 1 เมตร กว้างได้ถึง 50 เซนติเมตร

ปัจจุบันสามารถปลูกและมียอดให้เก็บมาใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการตลอดทั้งปี โดยใช้เวลาปลูกเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น และในพื้นที่ 1 ไร่ จะสามารถเก็บผลผลิตได้เดือนละไม่น้อยกว่า 200-300 กก. จำหน่ายได้ในราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 25-30 บาท หากเก็บขายทั้งปีก็จะมีรายได้เฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 60,000-90,000 บาท

การปลูกเบื้องต้นเลือกพื้นที่ที่มีความชื้นสูง ดินจะอุ้มน้ำดีมีความชื้นแฉะ แต่ไม่ท่วมขัง แสงแดดส่องรำไรตลอดทั้งวัน ก็จะแตกยอดอ่อนได้ดีและตลอดเวลาทั้งปี วิธีที่เหมาะสมควรยกร่องติดตั้งระบบน้ำให้ไหลหมุนวนนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เลียนแบบสายธารน้ำไหลในธรรมชาติ

หรือปลูกร่วมกับสวนกล้วยชนิดต่าง ๆ เพราะรากกล้วยมีความสามารถในการเก็บความชุ่มชื้นให้กับดินได้ดี และใบกล้วยยังช่วยพรางแสงให้ผักกูดอีกด้วย แต่ควรมีระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ช่วยเพิ่มความชื้น หากไม่มีสวนกล้วย ก็ปลูกใต้สแลนที่สูงประมาณ 1.5-2 เมตร แบบยกร่องให้มีพื้นที่ว่างระหว่างร่องประมาณ 1.5 เมตร ใช้มูลสัตว์ปรับหน้าดิน ก่อนลงต้นพันธุ์ ความห่างระหว่างกออยู่ที่ประมาณ 50×50 เซนติเมตร ช่วง 1 เดือนแรกที่ปลูกให้น้ำทุก 3-4 ชั่วโมง และทุกๆ 3 เดือนเติมปุ๋ยคอกระหว่างกอ ต้นละครึ่งกิโลกรัมพร้อมปล่อยน้ำให้ชุ่มชื้นทั่วพื้นที่ ก็จะสามารถเก็บยอดมาใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน


แหล่งที่มา

ข่าวเดลินิวส์
https://www.dailynews.co.th/agriculture/641008
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู