ข่าวสาร
C20 การส่งเสริม
25 เมษายน 2561
เพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจ ด้วยแมลงเศรษฐกิจ

นางอาทิตยา แสงมณี ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการนำเอาแมลงจำพวกผึ้ง อาทิ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง และชันโรง เข้ามาช่วยผสมเกสรพืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพผลผลิตได้เป็นอย่างดี อย่างในกรณีที่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งนำรังผึ้งพันธุ์เข้ามาวางในสวนลำไย เพื่อเก็บน้ำหวานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนของทุกปีนั้น นอกจากจะได้น้ำหวานจากดอกลำไยจำนวนมากแล้วยังสามารถเพิ่มปริมาณการติดผลของลำไยได้มากขึ้นถึง 9 เท่า

หรือในผลไม้ชนิดอื่นอย่างลิ้นจี่ก็สามารถช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตได้มากถึง 2 เท่า ในเงาะสามารถเพิ่มได้มากถึง 5 เท่า เป็นต้น แต่ที่ผ่านมายังมีเกษตรกรบางรายคงมีความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการนำผึ้งเข้ามาเลี้ยงในพื้นที่สวนนั้น จะเป็นตัวการทำให้ดอกของไม้ผลร่วงหรือเป็นพาหะนำโรคต่างๆมายังพืชผลทางการเกษตร
ซึ่งข้อมูลทางวิชาการที่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการของส่วนงานที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงคือ ในช่วงที่พืชออกดอกหากไม่มีแมลงที่ทำหน้าที่ในการนำเกสรตัวผู้มาเจอกับเกสรตัวเมียอย่างผึ้งชนิดต่างๆ เข้ามาช่วยการผสมเกสรของพืชจะได้ปริมาณผลผลิตเพียงร้อยละ 40-60 เท่านั้น เพราะเกิดจากการผสมตัวเองและผสมข้ามตามธรรมชาติเท่านั้น

ทั้งนี้เนื่องจากพืชให้ผลชนิดต่างๆ จะติดผลหรือมีเมล็ดไว้ใช้ขยายพันธุ์ต่อไปได้จะต้องมีการผสมเกสร ต้นไม้บางชนิดเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกันก็จะผสมกันเองได้ แต่ต้นไม้อีกหลายชนิดเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่คนละดอกหรือคนละต้น จึงจำเป็นต้องอาศัยสิ่งอื่นช่วยในการผสมเกสร

ลมนับเป็นพาหะสำคัญทางธรรมชาติที่ช่วยพัดเกสรตัวผู้ไปตกบนยอดเกสรตัวเมีย แต่มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของต้นไม้ทั้งหมด อาศัยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในการผสมเกสร เช่น หอยทาก แมงมุม ไร นก ค้างคาวและแมลง ซึ่งแมลงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ช่วยในการผสมเกสรดอกไม้มากที่สุด เนื่องจากแมลงจะอาศัยอาหารที่ให้โปรตีนและนํ้าหวานเป็นอาหารที่ให้พลังงาน ในระหว่างที่แมลงกินน้ำหวานจากดอกไม้เกสรดอกไม้จะติดตามตัวแมลงจากดอกหนึ่งไปอีกดอกหนึ่ง ทำให้เกสรตัวผู้ได้มีโอกาสเจอกับเกสรตัวเมียแล้วเกิดการผสมพันธุ์

สำหรับผึ้งนั้นจัดว่าเป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญที่สุด เพราะในแต่ละเที่ยวบินที่ออกหาเกสรหรือนํ้าหวานผึ้งจะไปที่ดอกไม้ของพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น ทำให้ไม่เกิดการปะปนหรือสูญเปล่าของละอองเกสร ผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีผึ้งช่วยผสมเกสรนั้น เมื่อประเมินแล้วมีมูลค่าสูงกว่านํ้าผึ้งและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากรังผึ้งเสียอีก

ปัจจุบันจึงถือว่าผลิตผลหลักจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งมีการขยายตัวอย่างกว้างขวางและมีการส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาพันธุ์และนำผลผลิตมาแปรรูปในรูปแบบต่างๆเพื่อเพิ่มมูลค่า ทำให้มีการเลี้ยงผึ้งในหมู่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง

จะเห็นว่าได้มีการให้บริการเช่าผึ้งเป็นรังๆ ไปวางไว้เป็นแห่งๆ ในสวนผลไม้แทบทุกชนิดในช่วงเวลาที่ดอกไม้ผลเริ่มบาน ในพื้นที่สวนผลไม้ทั่วประเทศในขณะนี้


แหล่งที่มา

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
https://www.dailynews.co.th/agriculture/639031
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู