ข่าวสาร
H10 ศัตรูพืช
18 เมษายน 2561
นักวิชาการเกษตรชี้ข้อเท็จจริง พาราควอต ยังคงเป็นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของเกษตรกร

ปัจจุบัน สารพาราควอต ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในกว่า 80 ประเทศ รวมทั้งในอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโนนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียนั้นเคยยกเลิกใช้ แต่รัฐบาลได้มีการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนกลับมาใช้ได้อีก สำหรับประเทศไทย มีการใช้พาราควอต ในพืชไร่ ไม้ผล พืชทั่วไป ใช้ฉีดลงไปตรงๆที่หญ้า ไม่ได้ฉีดลงบนพืชหลัก พาราควอตยังคงเป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมกับการเกษตรบริบทของประเทศไทยดีที่สุด

ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า การใช้สารกำจัดวัชพืชทางการเกษตรของไทยปัจจุบันมีใช้อยู่หลายชนิด ขึ้นอยู่กับประเภทของวัชพืช ขนาดต้นวัชพืช ชนิดของพืชประธาน เป็นต้น โดย สารพาราควอต มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ให้ผลดีกว่าสารชนิดอื่นๆ ทั้งในด้านการออกฤทธิ์

1) เห็นผลในเวลา 2-3 ชั่วโมงหลังฉีดพ่น ออกฤทธิ์เฉพาะส่วนสีเขียวที่ได้รับสารเท่านั้น เช่น หากฉีดโดนใบ ก็จะทำให้ใบไหม้เท่านั้น เกษตรกรจึงเรียกพาราควอตว่า ยาเผาไหม้ ไม่ดูดซึมเข้าราก หรือต้นพืช ปลอดภัยต่อพืชประธาน หรือ พืชที่เกษตรกรเพาะปลูก

2) คงทนต่อการชะล้างด้วยน้ำฝน ฉีดได้แม้ว่าฝนกำลังจะตก จึงเหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก เช่น ภาคใต้ของไทย

3) เป็นสารเคมีประจุบวก 2 ขั้ว ที่จะยึดกับดินซึ่งเป็นประจุลบอย่างเหนียวแน่น ไม่หลุดออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม การสกัดพาราควอตจากดินต้องทำในห้องปฏิบัติการ โดยต้มด้วยกรดเข้มข้นนาน 5 ชั่วโมง

ส่วนการใช้เครื่องจักรมาช่วยในการกำจัดวัชพืชนั้น มีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งในเรื่องราคาต้นทุนของอุปกรณ์สูง เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อมาครอบครองได้ และไม่สามารถใช้ได้ในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ รวมทั้ง การใช้เครื่องจักรอาจทำให้เกิดความเสียหายกับพืชประธานได้

นอกจากนี้ การใช้พืชคลุมดินในการบริหารปัญหาวัชพืชนั้น เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เกษตรกรไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ เนื่องจากการใช้พืชคลุมดินนั้นเป็นการเพิ่มต้นทุนและเวลาในการทำงาน อาทิ ค่าเมล็ดพันธ์พืชคลุมดิน ค่าสารกำจัดวัชพืช ค่าปลูกพืชคลุมดิน ค่าไถกลบพืชคลุมดิน

คุณสมบัติเฉพาะของพาราควอตเป็นข้อชี้บ่งที่ชัดเจนว่า ไกลโฟเสต และ กลูโฟซิเนต ก็ไม่สามารถใช้ทดแทนพาราควอตในพืชไร่ที่สำคัญ เช่น อ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลังได้ ดังนั้น จึงไม่มีแนวทางใดที่จะสามารถนำมาใช้ทดแทนสารพาราควอต ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และต้นทุนได้ ณ ปัจจุบัน

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสารพาราควอตนั้น มีข้อกล่าวอ้างที่ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มากมาย อาทิ พาราควอตทำให้ดินแข็ง ซึ่งไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากคุณสมบัติของพาราควอตทำลายเฉพาะส่วนที่เป็นสีเขียวของวัชพืชเหนือดิน ไม่ทำลายระบบรากใต้ดิน ในทางกลับกันการใช้พาราควอตมีส่วนช่วยในการรักษาหน้าดินและลดการสูญเสียน้ำในดิน เพราะซากวัชพืชจะช่วยคลุมดินไว้ ขณะเดียวกันพาราควอตไม่สะสมในดิน เนื่องจากพาราควอตจะสลายตัวโดยแสงและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดิน หากมีการสะสมในดินจริงวัชพืชคงไม่เติบโตขึ้นในพื้นที่เดิมที่เคยใช้สารพาราควอต เช่นเดียวกันมีความเข้าใจผิดว่า พาราควอตปนเปื้อนลงแหล่งน้ำทำให้น้ำนั้นเป็นอันตราย แต่ความจริงแล้วพาราควอตไม่เจือปนในน้ำ เพราะจะถูกดูดยึดไว้กับอนุภาคดิน และตะกอนดินในน้ำและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในที่สุด

ท้ายที่สุด ยังคงมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในอีกหลายประการเกี่ยวกับสารพาราควอตกับการเกษตร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการใช้พาราควอตในนาข้าว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีการใช้สารดังกล่าวในแปลงปลูก เกษตรกรใช้กำจัดวัชพืชบริเวณเพียงคันนาเท่านั้น

พาราควอต เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตที่จะช่วยในการพัฒนาศักยภาพการผลิต ทำให้ประเทศไทยสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในตลาดโลกมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ตามนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้ภาคเกษตรกรไทยสู่ เกษตร 4.0 รวมทั้งการผลักดันให้ประเทศไทย เป็น ครัวของโลก สิ่งนี้ จะเป็นความฝัน หรือ ความจริงคงต้องฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน



แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู