ข่าวสาร
C20 การส่งเสริม
17 เมษายน 2561
ต้นอ่อนผักบุ้ง ทางเลือกสุขภาพและรายได้

ผักบุ้ง หรือเรียกว่า ผักทอดยอด เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่คุ้นเคยกันมานาน มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญหลายชนิด มีสายพันธุ์แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือ ผักบุ้งไทย และผักบุ้งจีน

ผักบุ้งไทยเป็นผักบุ้งสายพันธุ์ธรรมชาติที่ขึ้นเองตามแม่น้ำลำคลอง ซึ่งจะมียางมากกว่าผักบุ้งจีน  ส่วนผักบุ้งจีนเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ลำต้นขาว ใบเขียวอ่อน ดอกขาว มียางน้อยกว่าผักบุ้งไทย

การเพาะต้นอ่อนผักบุ้งมีวิธีปลูกไม่ยุ่งยาก เพราะเมล็ดผักบุ้งจะขึ้นง่ายและใช้เวลาปลูกสั้นประมาณ 8-10 วัน ก็สามารถเก็บมาประกอบอาหารได้ วิธีการปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง ดังนี้

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้

ได้แก่ 1) เมล็ดพันธุ์ ที่นิยมคือ ผักบุ้งจีนพันธุ์เรียวไผ่และไผ่เงิน 2) ดินละเอียด ที่ผสมขุยมะพร้าวและแกลบดำ โดยดินจะต้องไม่เค็มและไม่เปรี้ยวซึ่งอาจจะใส่ดินมูลไส้เดือนก็ยิ่งดี หรือจะไม่ใส่เลยก็ได้ 3) กระบะสำหรับเพาะ หรือตะกร้าพร้อมฝาปิด ควรเป็นกระดาษ หรือแผ่นพลาสติกบางๆ เพราะเมื่อต้นงอกจะได้ดันขึ้นมาได้ 4) ฝักบัวรดน้ำ

วิธีการเพาะต้นอ่อนผักบุ้งดังนี้

1.ล้างเมล็ด ให้สะอาด 1-2 น้ำ ไม่ต้องขยี้เมล็ด และแช่เมล็ดในน้ำประมาณ 8 ชั่วโมง หรือ 1 คืน
2.เอาเมล็ดขึ้นจากน้ำใส่ตะแกรงให้สะเด็ดน้ำประมาณ 10-20 นาที แล้วนำเมล็ดไปบ่ม โดยห่อด้วยผ้าขาวบางทิ้งไว้ ประมาณ 20 ชั่วโมง สังเกตว่าจะมีตุ่มเล็กสีขาวๆ งอกออกมา ก็สามารถเอาลงดิน หรือวัสดุปลูกต่อไปได้
3.เตรียมภาชนะปลูก ให้นำดินเพาะ ที่เตรียมไว้ลงกระบะ สูงประมาณครึ่งกระบะ นำเมล็ดที่บ่มแล้วโรยลงในภาชนะให้สม่ำเสมอ เบาๆ อย่าขยี้เมล็ด เพราะจะทำให้รากขาด และไม่ควรแน่นเกินไป จากนั้นกลบดินบางๆ ฉีดน้ำละอองฝอยให้ทั่ว ไม่ควรแฉะหรือแห้งมากเกินไป แล้วปิดด้วยฝาปิดให้มิดชิด
4.รดน้ำให้ชุ่ม รดน้ำโดยฉีดเป็นละอองฝอย และอย่าให้น้ำแรงจนเกินไป เพราะจะทำให้เมล็ดกระเด็น วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น สังเกตดูว่า ถ้าอากาศร้อนจัดในตอนกลางวัน ต้นเริ่มเหี่ยว ให้รถน้ำทันที
5.ในช่วงการปลูกแรกๆ จะต้องดูแลใกล้ชิด โดยจะต้องไม่ให้ดินแฉะหรือแห้งจนเกินไป จากนั้น เมื่ออายุ 3-4 วัน ให้เปิดฝาออก ไม่ต้องปิดฝาแล้ว เมื่ออายุประมาณ 8-10 วัน ให้นำออกรับแสงแดด เพื่อให้สร้างคลอโรฟิลล์สร้าง ใบเขียว จากนั้นก็สามารถนำไปบริโภค และนำไปจำหน่ายขายได้

ประโยชน์ของผักบุ้งนั้น มากมายนัก ในผักบุ้ง 100 กรัม จะให้พลังงาน 22 กิโลแคลอรี จะประกอบไปด้วย เส้นใย วิตามิน และแร่ธาตุอื่นๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามิน บี 3 ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแคลเซียม และเบตาแคโรทีน หากรับประทานสดๆ จะทำให้คุณค่าของวิตามิน และแร่ธาตุเหล่านี้ ไม่เสียไปกับความร้อนอีกด้วย




แหล่งที่มา

หนังสือพิมพ์แนวหน้า
http://www.ryt9.com/s/nnd/2812726
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู