ข่าวสาร
3 เมษายน 2561
เกษตรทางเลือก สู่การปฏิวัติ

การเกษตรทางเลือก เป็นการทำการเกษตรในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่เกษตรเคมี แต่เป็นการทำการเกษตรที่เน้นการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และวัสดุปกคลุมดิน การผสมผสานด้วยการปลูกพืชและสัตว์เพื่อพึ่งพาอาศัยกัน งดเว้นหรือลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้น้อยลง จนถึงขั้นไม่ใช้เลย และไม่มีสารพิษ ได้แก่

1.เกษตรธรรมชาติ มีเป้าหมายในการทำเกษตรที่เน้นในเรื่อง การปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ โดยจัดระบบนิเวศให้เกื้อกูลกัน ผลิตอาหารที่มีรสชาติตามธรรมชาติ และไม่มีสารพิษ ผู้ผลิตและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารพิษ เป็นระบบการเกษตรที่รักษาสมดุลธรรมชาติ เน้นการฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศ และการลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก

2.เกษตรอินทรีย์ มีเป้าหมายในการทำเกษตรที่เน้นในเรื่อง การหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ต่างๆ เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงฮอร์โมนต่างๆ ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ รวมทั้งไม่ใช้พืชหรือสัตว์ที่เกิดจากการตัดต่อทางพันธุกรรม ที่อาจเกิดพิษในสภาพแวดล้อม เน้นการใช้อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ ในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยใช้ระบบการปลูกพืชหมุนเวียน รวมทั้งใช้หลักการควบคุมศัตรูพืชโดยชีวภาพ และเน้นการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน

3.เกษตรยั่งยืน มีเป้าหมายในการทำเกษตรที่เน้นในเรื่อง การทำการเกษตรแบบผสมผสาน ที่มีทั้งการปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์หลายชนิด ที่ผสมกัน และมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างลงตัว เน้นปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความยั่งยืน ที่ทำให้เกิดความมั่นคงต่อเกษตรกร และมีผลในระยะยาว

4.เกษตรผสมผสาน มีเป้าหมายในการทำเกษตรที่เน้นในเรื่อง การจัดการกิจกรรมการผลิตผสมผสานเกื้อกูลกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสูงสุด มีกิจกรรมการผลิตหลายๆ อย่าง เพื่อลดความเสี่ยงจากราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนเป็นหลัก

5.เกษตรทฤษฎีใหม่ มีเป้าหมายในการทำเกษตรที่เน้นในเรื่อง ทฤษฎีในการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลักสำคัญ คือ ความเรียบง่าย ทั้งในแนวคิดและด้านเทคนิควิชาการ จะต้องสมเหตุสมผล ทำให้รวดเร็ว และสามารถแก้ไขปัญหาให้ก่อประโยชน์ได้จริง มุ่งไปสู่วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน การทำกิจกรรมการเกษตรหลายอย่าง เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสร้างสมดุลให้แก่ระบบนิเวศ โดยให้แบ่งพื้นที่การเกษตรออก 4 ส่วน ได้แก่ 1) ให้มีแหล่งน้ำในไร่นา เพื่อใช้ในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง 30% ของพื้นที่ 2) ให้มีพื้นที่ทำนาปลูกข้าวในฤดูฝนไว้บริโภค ให้พอเพียงตลอดปี 30% ของพื้นที่ 3) ให้มีพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล พืชสมุนไพร 30% ของพื้นที่ และ 4) ให้มีพื้นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่นๆ 10% ของพื้นที่ โดยทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือ การหมุนเวียนการใช้ประโยชน์ของทรัพยากร ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน ปัจจัยการผลิต หรือเศษเหลือใช้จากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง เป็นการหมุนเวียนของวัสดุเหลือใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ตลอดจนการรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น

6.วนเกษตร มีเป้าหมายในการทำเกษตรที่เน้นในเรื่อง การใช้ที่ดินในการผลิตพืช และสัตว์ให้มากชนิด หรือมีความซับซ้อน และหลากหลายทางชีวภาพ ใกล้เคียงธรรมชาติ มากที่สุด เป็นการทำเกษตรร่วมกันกับการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยมีรากฐานหรือปัจจัยการผลิตที่มาจากท้องถิ่นเอง และมีลักษณะแตกต่างหรือผันแปรไปตามสภาพพื้นที่ ทัศนคติ ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี และความรู้ ความสามารถในการจัดการของแต่ละท้องถิ่น

ระบบเกษตรทางเลือก สามารถเข้าถึงได้ง่าย และราคาไม่แพงนัก มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน และมีวิธีปฏิบัติที่สามารถปรับใช้ไปตามสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมใน ท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย






แหล่งที่มา

หนังสือพิมพ์แนวหน้า
http://www.ryt9.com/s/nnd/2807300
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู